ศูนย์โควิด-19 เชียงใหม่ รายงานวันนี้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ศพ เป็นผู้สูงอายุและสัมผัสกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอยู่ที่ 55 ราย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการหนักกลับเพิ่มรวม 15 ราย
จากกรณีที่ เฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด 19 เพิ่มอีก 3 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในระลอกเดือนเมษายนเพิ่มเป็น 5 ราย ส่วนรายละเอียดจะมีการแถลงอีกครั้งในช่วงเย็นวันนี้
เมื่อวันนี้ (1 พ.ค.64) ที่ ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และนายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันแถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่
ดร.ทรงยศ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง มีจำนวน 55 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,630 ราย รักษาหายแล้ว 1,981 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งหมด ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทุกประเภท จำนวน 1,644 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่เป็น 5 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ยังคงรักษาอยู่นั้น แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 1,237 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 208 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 78 ราย และอาการหนัก (สีแดง) 15 ราย
...
หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า การตรวจกลุ่มเสี่ยงของโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลเอกชน และจุดตรวจคัดกรองต่าง ๆ เมื่อวานนี้ (30 เม.ย. 64) ได้ทำการตรวจไปทั้งหมด 1,685 ราย พบผู้ติดเชื้อ 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.09 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปในพื้นที่เสี่ยง หรือมีอาการ ให้เข้ารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ และจุดตรวจคัดกรองศูนย์ประชุมนานาชาติฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ดร.ทรงยศ กล่าวอีกว่า ด้านความเสี่ยงหากแยกตามการสัมผัสโรค วันนี้ (1 พ.ค. 64) พบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสในสถานบันเทิงสะสมลดลงเหลือร้อยละ 39.5 การสัมผัสในครอบครัวสะสมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22.3 การสัมผัสในชุมชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.3 และสัมผัสในสถานที่ทำงาน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.6 ส่วนการสุ่มตรวจเชิงรุก ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีมติให้ทีมตรวจคัดกรองของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนเห็นว่ามีพื้นที่เสี่ยงใดเพิ่มเติมสามารถแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอำเภอ เพื่อทำการตรวจสอบสถานการณ์ และจัดทีมออกตรวจเชิงรุกต่อไป
"การระบาดในคลัสเตอร์ต่าง ๆ พบว่ายังคงพบเชื้ออยู่ใน 3 คลัสเตอร์ คือคลัสเตอร์ศูนย์เด็กเล็กแม่คือ เรือนจำกลางเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอฮอด โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 28 วัน นับตั้งแต่วันที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในคลัสเตอร์นั้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตราย" หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.เชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ว่า แม้ว่าสถานการณ์จำนวนคนไข้ลดลงตามลำดับ ผู้ป่วยอาการหนักกลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกิดการอักเสบของปอด ทำให้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย โดยรายแรก เป็นชายไทยอายุ 66 ปี มีความเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาด ตรวจพบเชื้อในวันที่ 14 เมษายน และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม และในวันเดียวกันพบว่ามีอาการเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตลงด้วยระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ในวันที่ 29 เมษายน 2564
...
รายที่ 2 เป็นหญิงไทยอายุ 68 ปี มีความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดที่มีการระบาด ตรวจพบเชื้อในวันที่ 16 เมษายน และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน จากนั้นวันที่ 22 เมษายน มีอาการเหนื่อยมาก ออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตลงด้วยระบบหายใจล้มเหลว ในวันที่ 29 เมษายน 2564
ส่วนรายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 51 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง มีประวัติไปเล่นฟิตเนสในสถานออกกำลังกาย ก่อนช่วงสงกรานต์ และไม่ทราบความเสี่ยง มีอาการไข้ ไอ ในวันที่ 12 เมษายน ไปซื้อยามาทานเอง และรักษาตามคลินิก วันที่ 17 เมษายน มีไข้สูง และตรวจพบเชื้อในวันที่ 20 เมษายน จากนั้นวันที่ 21 เมษายน มีอาการหอบเหนื่อย จึงถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และได้เสียชีวิตลงด้วยระบบหายใจล้มเหลว ในวันที่ 30 เมษายน 2564
...
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจองฉีดวัคซีนโควิด-19 วันนี้ (1 พ.ค. 64) เป็นวันแรกที่ได้เปิดให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ลงทะเบียน โดยสถิติล่าสุดพบว่า มีประชาชนชาวเชียงใหม่ลงทะเบียนแล้วเกือบ 5,000 คน อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถติดต่อลงทะเบียนขอรับวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และขอให้ประชาชนเลือกสถานพยาบาลที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีประวัติการรักษาอยู่แล้ว และเป็นการลดความแออัดในสถานพยาบาล
...
ส่วน นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย พร้อมกันนี้ขอเน้นย้ำให้ประชาชนร่วมมือกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เพื่อช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ และทำให้สถานการณ์ในพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน.