อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ดูบ้านบอมเบย์เบอร์มาของจริงเป็นครั้งแรก ยืนยันให้ ผอ.สำนักที่ 7 แจ้งความเร่งรัดคดี สาวถึงต้นตอ ย้ำแม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ยังเป็นโบราณสถานที่กรมศิลป์ต้องดูแล
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมกับ นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และ นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมวัฒนธรรม นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินการฟื้นฟูอาคารโบราณ “บอมเบย์เบอร์มา” หลังจากถูกทุบทิ้งจนเหลือแต่ซาก
เบื้องต้นกรมศิลปากรได้ดำเนินการเขียนแบบโครงสร้างอาคารทั้งหมด และเตรียมแบบอาคารไว้ 3 แบบ คือ แบบโบราณดั้งเดิม แบบที่มีการประยุกต์ปรับปรุง และแบบอาคารล่าสุดก่อนมีการรื้อถอนจนเหลือแต่ซาก โดยจะมีการนำเสนอแบบอาคารทั้งหมดให้ประชาชนชาวแพร่ ร่วมตัดสินใจโดยการประชาพิจารณ์ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตอนนี้มีความคืบหน้ามากขึ้นในเรื่องของรูปแบบ หลังสุดก่อนที่จะมีการรื้อถอนออกมา งานต่อจากนี้เราต้องศึกษาให้ลึกมากยิ่งขึ้น ทางด้านประวัติทางเอกสารนั้นบอกไว้ว่าสร้างมาแล้วร้อยกว่าปี การใช้งานอาคารแบบนี้ก็มีการซ่อมแซมอาคารทั่วๆ ไป เราจะนำงานโบราณคดีลงมาเก็บข้อมูลในพื้นที่ เราจะได้ข้อมูลว่าเวลาร้อยกว่าปีนั้น มีการปรับปรุงซ่อมแซมมาแล้วกี่ครั้ง มีการสร้างต่อเติมมาแล้วกี่ยุคกี่สมัย แต่ละยุคแต่ละสมัยมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมดแล้วนั้น ก็จะนำมาสู่การพูดคุยกันกับเครือข่ายสังคมทั้งหมดในกลุ่มวิชาการ ในการที่เราจะฟื้นอาคารบอมเบย์เบอร์ม่ากลับมา เราควรใช้งานในยุคไหนที่จะฟื้นคืน
...
ด้าน นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจาก นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้ลงมาดูพื้นที่ โดยท่านได้ให้นโยบายกับกรมศิลปกรในการตรวจสอบ การฟื้นฟูสถานที่ก่อสร้างกลับมาให้เหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด ท่านมีความเป็นห่วงในเรื่องความรู้สึกของพี่น้องชาวจังหวัดแพร่ อะไรที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมช่วยได้ท่านก็ยินดี ทุกรูปแบบ ได้มอบหมายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับกรมศิลปากรให้ลงมาช่วย โดยประสานทางชุมชน ทางจังหวัด ให้เกิดความพอใจมากที่สุด
ขณะที่ นายไกรสิน อุ่นใจจินต์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากท่านอธิบดีฯ มีความเห็นชอบในเรื่องของการฟื้นฟูอาคารหลังนี้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งข้อสั่งการนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานลงพื้นที่มาตรวจไม้ ทำแบบรูปรายการ เพื่อมาประกอบอาคารหลังนี้กลับมาเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุดตามการสั่งการ ในส่วนของการดำเนินงานในเรื่องแบบ และการประเมินราคาต่างๆ เป็นเรื่องของกรมศิลปากร เรื่องงบประมาณกรมอุทยานฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะนี้ งานของทางกรมศิลปากรมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการตรวจค้นทางโบราณคดี ขณะนี้ ทางกรมอุทยานฯ มีงบประมาณ 500,000 บาท สำหรับการสำรวจทางโบราณคดี
ผอ.สำนักที่ 7 กล่าวต่อว่า ในส่วนของเรื่องการฟื้นฟูบูรณะต้องรออีกประมาณ 1 อาทิตย์ แบบอาคารจะเสร็จ จะส่งไปทางกรมศิลปากร สำนักสถาปัตย์ มาตรวจดูความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง อย่างช้าราว 1 เดือน โครงการนี้ก็จะนำเสนอให้ทางกรมอุทยานฯ ดำเนินการต่อได้ ซึ่งรูปแบบ เบื้องต้นจะมี 3 แบบ คือ แบบโบราณดังเดิม แบบก่อนถูกรื้อ และแบบประยุกต์ นำทั้ง 3 แบบทำการประชาพิจารณ์ให้ประชาชนชาวแพร่ได้เลือกว่า ต้องการแบบไหนก็จะดำเนินการตามแบบนั้น ในการอนุรักษ์โบราณสถาน จะมีการนำกรณีตัวอย่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวแพร่หันมาอนุรักษ์โบราณสถาน โดยเมืองแพร่ความสำคัญโบราณสถานเมืองแพร่ที่สำคัญ ยังมีอีกแห่ง คือ “กำแพงเมืองแพร่” ซึ่งปัจจุบันมีการบุกรุกทำลายทั้งภาคราชการและเอกชน ซึ่งทางกรมศิลป์ได้จัดทำแผนแม่บทการดำเนินการในอนาคตต่อไป
...
นายไกรสิน กล่าวอีกว่า ในส่วนการแจ้งความดำเนินคดี ทางกรมศิลปากร โดยอธิบดีกรมศิลป์ฯ ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษดำเนินคดี ต่อผู้ทำความผิดในการรื้อถอนอาคารบอมเบย์เบอม่าในสวนรุกขชาติเชตวัน ซึ่งในการแจ้งความนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้เข้าไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองแพร่ ล่าสุดทางพนักงานสอบสวนได้เรียกเข้าไปให้การเพิ่มเติมในรายละเอียด ตามที่กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงทางผู้กำกับ สภ.เมืองแพร่ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรา 10 เกี่ยวกับการบุกรุกทำลายรื้อถอนอาคารที่เป็นโบราณสถาน
ส่วน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ สว่างประเสริฐ ผกก.สภ.เมืองแพร่ เผยว่า วันนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เพื่อเรียกผู้เกี่ยวข้องทางคดีมาทำการสอบสวน จากนั้นรวบรวมส่งพนักงานอัยการต่อไป.