(ภาพ) น.ส.อุทุมพร ทาสมบูรณ์ อสม.หนองกอมเกาะ ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย ปฏิบัติงานมากว่า 8 ปี และออกปฏิบัติงานสู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย.
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้สร้างความหายนะให้กับผู้คนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อแล้วจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับวิกฤติร้ายครั้งนี้เช่นกัน
แต่ ประเทศไทย โชคดีกว่าประเทศอื่น ในการต่อสู้กับไวรัสร้าย เพราะมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับยกย่องเป็น “นักรบเสื้อกาวน์” กำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อและการป้องกัน ทุกคนเสี่ยงภัย ทุ่มเทเสียสละกันอย่างเต็มที่ จนเป็นที่ซาบซึ้งใจของประชาชนทุกคน

...
ขณะเดียวกันในการทำงานเชิงรุกค้นหาผู้ป่วย เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ มี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ “อสม.” เปรียบเป็น “นักรบแนวหลัง” กำลังสำคัญที่ทำงานกันอย่างหนักในพื้นที่
การทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งของ อสม. ชนิดเกาะติดถึงหัวบันไดบ้าน แม้จะได้ค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด แต่ทุกคนทำด้วยใจ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงทุกวัน ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คนทั่วประเทศ
ดูตัวอย่างได้จาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หนองคาย เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชุมชนและ อสม.มากที่สุด มองเห็นความสำคัญของ อสม. จึงได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆให้กับ อสม.ทำงานป้องกันโควิด-19 อย่างเต็มที่

นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย กล่าวว่า อสม. เป็นองค์กรที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการต่อสู้กับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้
อสม. ทำงาน 3 หลัก คือ 1.รู้คน ทุกครั้งที่มีคนเข้า-ออกหมู่บ้านหรือมาจากพื้นที่เสี่ยง อสม.จะรู้เป็นอย่างดี 2.รู้พื้นที่ อสม.ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว และ 3.รู้วิชาการ อสม.ทุกคนผ่านการฝึกอบรมรู้ว่าเมื่อปฏิบัติหน้าที่จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรและใช้อุปกรณ์อย่างไรบ้าง อสม.ทำงานสแกนคนด้วยระบบ อสม. 1 คน ต่อประชาชน 15 ครอบครัว

อบจ.หนองคาย ทราบดีว่า อสม.เป็นหน่วยงาน แรกที่เข้าไปบริหารจัดการโควิด-19 ในพื้นที่ จึงได้มอบ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้กับ อสม.ทั้งจังหวัด
ประกอบด้วย ชุดป้องกันตัวเอง, แว่นตา, เฟซชิลด์, หน้ากากอนามัย, รองเท้าบูต, ถุงมือ, เครื่องวัด อุณหภูมิร่างกาย จำนวน 16,000 คน ทำให้ อสม. ทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบบุคคลในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การป้องกันและควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างได้ผล
...

ขณะนี้พื้นที่ จ.หนองคาย ปลอดจากผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่มานานกว่า 30 วันแล้ว ขอชื่นชม ระบบสาธารณสุขของจังหวัด และ อสม.ทุกคน ที่ทำการรักษาผู้ป่วย 3 รายจนหายดี และทำงานเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินงานของ อบจ.หนองคาย มี 3 ลำดับ คือ ลำดับแรก เป็นการควบคุมโรค, ลำดับที่สอง เป็นการเยียวยา ภายหลังการออกกฎควบคุมโรคต่างๆ ส่งผลกระทบต่ออาชีพของประชาชน อบจ.หนองคายได้จัดตั้งโรงครัวแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนที่ตลาดชิคชิค วันละ 1,000 ชุด
...

ลำดับสุดท้าย เป็นการฟื้นฟู โดย อบจ.หนองคาย จะฟื้นฟูผ่านกลุ่มอาชีพที่มีอยู่แล้ว 600 กลุ่มทั่วจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
“อบจ.หนองคายทำงานใกล้ชิด อสม.มากว่า 10 ปี เห็นความสำคัญของ อสม.มาโดยตลอด นับตั้งแต่การเพิ่มค่าป่วยการ จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท มีการดูแลสวัสดิการให้เป็นอย่างดี เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การที่ประชาชนยอมรับว่า อสม.เป็นกำลังหลักในการควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศได้ นับว่าเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเสียสละ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ อสม.ทุกคน” นายยุทธนา กล่าว

...
ด้าน น.ส.อุทุมพร ทาสมบูรณ์ หนึ่งใน อสม.กล่าวว่า ทำหน้าที่ อสม.มานานกว่า 8 ปี การทำงาน ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ตอนแรกรู้สึกหนักใจที่ต้องเป็นด่านหน้าในการไปใกล้ชิดกับบุคคลต้องสงสัย บุคคลกลุ่มเสี่ยง กลัวว่าจะนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว
เมื่อทำความเข้าใจกับการทำงานและมีการเตรียมตัวป้องกันตัวที่ดี ก็ไม่กลัวแล้ว เพียงแต่มีหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ใช้เจลล้างมือตลอด หากต้องไปพบกับผู้ที่กลับจากต่างจังหวัดเข้ามาในหมู่บ้านต้องใส่ชุดอุปกรณ์เต็มที่

“การเป็น อสม.ทำให้รู้ว่า การช่วยเหลือคนอื่น ดูแลคนอื่น ทำให้อิ่มใจ สุขใจ และทำให้รู้ว่ามีคนที่เดือดร้อนจริงๆ เราได้รู้จักนิสัยใจคอของคนทั่วไปด้วย ช่วยให้ทำงานในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ทุกวันนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ อสม.ไม่คิดมาก่อนว่าบทบาท อสม.จะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ มีส่วนร่วมช่วยชาติได้มาก” น.ส.อุทุมพร กล่าวอย่างภูมิใจ
พร้อมทั้งขอบคุณ อบจ.หนองคาย ที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ และอุดหนุนงบประมาณจัดสรรให้ อสม.ทุกพื้นที่ได้มีเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่ให้การช่วยเหลืออุปกรณ์ต่างๆ และมีการจัดสรรให้ อสม. ก่อนเป็นอันดับแรก
นี่คืออีกหนึ่งบทบาทของ อสม.ในการทำหน้าที่เฝ้าระวังโควิด–19 เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ที่ดูแลปลอดภัย ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน.
มงคลชัย ปัญญาตระกูล รายงาน