งานใหญ่ "ไหว้พระธาตุช่อแฮ" สืบสานประเพณีบุญเมืองแพร่
6 ก.พ. 2563 05:01 น.
พระราชเขมากร เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการ ร่วมถ่ายภาพกับคณะฟ้อนบวงสรวงพระธาตุช่อแฮ ในงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่.
มักมีคำกล่าวอยู่เสมอว่า “เมื่อมาเที่ยวจังหวัดแพร่ ถ้าไม่ได้ไปสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ เสมือนหนึ่งไปไม่ถึงจังหวัดแพร่”
สาเหตุเป็นเพราะว่า วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่และภาคเหนือ

ทุกๆปีชาวจังหวัดแพร่จะจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” เพื่อสักการะองค์พระธาตุ ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2563 เปิดให้ชมฟรีตลอดงาน
พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง กล่าวถึงการจัดงานปีนี้ว่า วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มี องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นประธาตุปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล
มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน องค์พระธาตุบรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระข้อศอกซ้ายของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จากความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่ได้กำหนดให้องค์พระธาตุประดิษฐ์อยู่บนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดแพร่ และนำมาเป็นคำขวัญของจังหวัดแพร่ที่ว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”
สำหรับประวัติการสร้างวัดพระธาตุช่อแฮนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในด้านประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึง วัดพระธาตุช่อแฮ ว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1879-1881 ในสมัยที่ พระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) ได้เสด็จมาสักการะพระธาตุช่อแฮ และบูรณปฏิสังขรณ์

จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7 คืน จนกลายเป็นประเพณีว่า ทุกปีชาวจังหวัดแพร่จะจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮขึ้น เพื่อสักการะบูชาองค์พระธาตุ ระหว่างวันขึ้น 9 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ (เดือน 6 เหนือ) มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จนกลายเป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดแพร่ โดยใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 2-8 มีนาคม 2563
พระโกศัยเจติยารักษ์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมทางศาสนาในประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ได้แก่ วันที่ 23 ก.พ.2563 พิธีบวงสรวงพระธาตุช่อแฮ พิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคล วันที่ 25 ก.พ. พิธีบรรพชาอุปสมบท

วันที่ 27 ก.พ. พิธีเลี้ยงเจ้าพ่อขุนลั๊วะอ้ายก้อม วันที่ 29 ก.พ.พิธีถวายบาตร ตานตุงและตานเจดีย์ทราย อุทิศถวายแด่บูรพาจารย์ และพิธีอาราธนาพระมหาอุปคุต วันที่ 2 มี.ค. พิธีเปิดงาน วันที่ 4 มี.ค. พิธีทำบุญกตัญญูบูชาบูรพาจารย์ ทักษิณานุปทาน วันที่ 3-7 มี.ค. ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมพระสงฆ์
วันที่ 8 มี.ค. พิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งและมอบเกียรติบัตรผู้สนับสนุนงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ วันที่ 9 มีนาคม พิธีส่งพระมหาอุปคุต ณ น้ำแม่สาย และฟังเทศน์มหาชาติมหาเวสชาดก ทำบุญตักบาตรทุกเช้าตลอดงาน 7 วัน
จึงขอเชิญชวนทุกท่านเที่ยวงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง มาขอพร ไหว้พระ เสริมบุญบารมีทาน ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อ.เมืองแพร่

ด้าน นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผวจ.แพร่ กล่าวว่า งานประเพณี “ไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ปีนี้จัดพิเศษยิ่งใหญ่กว่าทุกปี
โดยเฉพาะวันที่ 2 มี.ค.2563 วันแรกของงานจะมีขบวนหลักแห่เครื่องสักการะ พระธาตุ โดย อบจ.แพร่ สนับสนุน
ส่วนขบวนแห่สักการะพระธาตุที่ยิ่งใหญ่ ประชาชน 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ นำศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ขบวนแห่ของดีบ้านฉันแต่ละพื้นที่ ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนฟ้อนไหว้สาป๋าระมีพระธาตุกว่า 200 คนของสมาคมผู้นำพัฒนาสตรีชุมชนจังหวัดแพร่ ขบวนแห่ของกระทรวงศึกษาธิการ ขบวนแห่ของเทศบาลเมืองแพร่ เป็นต้น

จากนั้นเวลา 19.00 น. ชมการแข่งขันตีกลองปู่จาพญาขาล จากเยาวชน 8 อำเภอ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและชิงแชมป์กลองปู่จาจังหวัดแพร่ และชมการแสดงตีกลองปู่จาที่ขึ้นชื่อจากทีมผู้แทนภาคเหนือตอนบน โดย ททท.สนง.แพร่สนับสนุน
ตลอดงาน วันที่ 2-8 มีนาคม 2563 ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ และศิลปินนักร้องชื่อดัง เช่น ศิลปิน ตั๊กแตน ชลดา ศิลปินล้านนา ฯลฯ พร้อมเลือกสินค้าโอทอปและสินค้าจากโรงงานมากมาย
นับเป็นงานประเพณีดีๆอีกงาน ที่คนไปร่วมงานและอิ่มบุญทั่วหน้า.

มณี ม่วงทอง