ต้นตองตึงเป็นไม้ป่ายืนต้นใบคล้ายต้นสักหรือต้นชาดในภาคอีสาน แต่ใบตองตึงไม่มีขน ใบที่ยังไม่แก่คนในภาคเหนือนิยมเก็บมาห่อของ เช่น ห่อข้าวห่อ ห่อของคล้ายใบตอง หรือใบบัวในภาคกลาง
ใบตองตึงเมื่อแก่จะหล่นจากต้น ชาวบ้านนำมาทำเป็นตับมุงหลังคากระท่อมคล้ายจากหรือแฝก มีความทนทานได้ 4-5 ปี
ขณะที่ นายอนันต์ สิริภาคย์โภคิน กำนัน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เจ้าของร้านเหนียวใบตึง นำชาวบ้านเข้าป่าเก็บใบตองตึง นำมาทำถ้วยชาม ใช้ใส่อาหารสร้างความฮือฮาแก่ผู้พบเห็น
เป็นการลดภาชนะทำด้วยพลาสติกได้เป็นอย่างมากและยังลดปัญหาหมอกควันไฟป่าได้
นายอนันต์ บอกว่า ช่วงจะเข้าสู่ฤดูร้อนปัญหาไฟป่าหมอกควันจะเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะไฟป่าจะเกิดจากใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามป่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงมีแนวคิดจะต้องทำแนวกันไฟขึ้น
อีกทั้งคิดว่าใบไม้ใหญ่ๆอย่างใบตองตึง ที่ทุกปีจะร่วงหล่นเต็มป่า จะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าขึ้น จึงมีแนวคิดจะต้องนำใบตองตึงมาทำให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะปล่อยกองทับถมในป่าเป็นอันตรายในยามหน้าแล้ง เลยทดลองทำเครื่องปั๊มขึ้นมาเข้ารูปทั้งถ้วยและชาม ก็สามารถทำได้ผลเป็นอย่างดี
เมื่อนำมาทดลองใช้ใส่อาหารไส้อั่ว จนเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าที่ดูเป็นธรรมชาติและปลอดภัย จึงจะนำสิ่งนี้ให้ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านทำกัน โดยจะต้องลดต้นทุนให้มีราคาถูกที่สุดเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าโอทอป
ที่สำคัญถ้วยชามใบตองตึงสามารถย่อยสลายได้ด้วย ต่อไปในตำบลขี้เหล็กอาจจะเป็นแหล่งผลิตถ้วยชามใบตองตึงส่งขายไปทั่ว
จากการเก็บใบตองตึงเป็นการทำให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันลดไปด้วย เพราะการเข้าไปเก็บใบตองตึงออกจากป่าพร้อมทำแนวกันไฟสามารถลดไฟป่าแก้ปัญหาหมอกควันด้วย
แนวคิดนี้มีหน่วยงานของรัฐมาดูงานและส่งเสริมในการทำถ้วยชามจากใบไม้ เพื่อเสริมอาชีพและป้องกันปัญหาไฟป่าหมอกควันไปด้วย
...
นับเป็นแนวคิดที่ดีกับการแก้ปัญหามลพิษที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้น!!!
ชัยพินธ์ ขัติยะ