นายกฯ นำคณะลงพื้นที่ "พิษณุโลก-สุโขทัย" ตรวจน้ำท่วม พร้อมประชุมร่วมผู้ว่าฯ 17 จว.ภาคเหนือติดตามสถานการณ์ ระบุในหลวง ร.10 ทรงห่วงปชช.รับสั่งให้ดูแลให้ดีที่สุด กำชับหาแนวทางคุยเอกชนทำพื้นที่กักเก็บน้ำ

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน โดยก่อนการประชุมร่วมกับผู้ว่า 17 จังหวัด พร้อมพบปะกับกลุ่มนักเรียนวิทยาลัยอาชีวะ สาขาอาหารและโภชนาการ จ.พิษณุโลก ที่มาจัดทำอาหารว่างให้การต้อนคณะของนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการ 17 จังหวัด

โดยนายกฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาพบกันในวันนี้ ขอให้ทุกคนในฐานะคนรุ่นใหม่ได้ช่วยกัน ในส่วนของนายกฯ จะต้องทำงานให้กับคนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า เพราะวันนี้เราไม่สามารถทิ้งคนรุ่นเก่าได้เนื่องจากทุกอย่างมีการศึกษาต่อเนื่อง มีประวัติศาสตร์ของชาติ และขอทุกคนอย่าทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นไทย

จากนั้นได้กล่าวมอบนโยบายว่า วันนี้นำรัฐมนตรีมาด้วย ทั้งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนรัฐมนตรีท่านอื่นบางคนติดการประชุมสภาฯเลยมาด้วยไม่ได้ แต่ก็ยังมีปลัดกระทรวงมาหลายท่าน ขอกำชับเรื่องพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยให้หาแนวทางคุยกับเอกชนที่มีพื้นที่ เพื่อจัดทำทำพื้นที่กักเก็บน้ำใน โครงการต่างๆเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำยมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หากโครงการใหญ่ดำเนินการได้ยาก ก็ต้องเร่งดำเนินการในโครงการเล็กไปก่อน เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์ในภาพรวม และจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่าให้เกิดการระบายน้ำทิ้งอย่างเดียว แต่ต้องเอาน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ด้านพื้นที่การเกษตรด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือระยะสั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การฝึกอาชีพหลังน้ำลด เพราะนอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำแล้วรัฐบาลต้องการให้ประชาชน ต้องดูในเรื่องของการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และเป็นที่ต้องการของตลาดไม่ว่าจะเป็นชนิดของพืชหรือการปศุสัตว์ ส่วนเรื่องงบประมาณโครงการไหนถ้ายังไม่มีงบประมาณรัฐบาลก็พยายามจะจัดหางบให้ ทั้งนี้รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะดูแลอย่างเต็มที่ตามระเบียบ

...


"ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงห่วงและมีพระราชกระแสรับสั่งมาโดยตลอด ให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานว่า ที่อ.เนินมะปรางซึ่งฝนที่ตกหนักมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ทำให้น้ำจากแม่น้ำชมพูล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตร แล้วไหลลงมาท่วมอ.บางกระทุ่ม ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำน่านที่อ.เมือง จ.พิจิตร ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนที่อ.วังทองซึ่งแม่น้ำวังทองที่ไหลผ่านมีระดับสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเนื่องจากฝนตกหนักในเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นต้นน้ำและตกหนักในอ.วังทองด้วย ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน สำหรับการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืนในจ.พิษณุโลกที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นโครงการที่ชาวพิษณุโลกต้องการได้แก่ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ความจุ 90 ล้านลบ. ม. ซึ่งจะสามารถบรรเทาภัยน้ำท่วมในอ.เนินมะปรางและบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก รวมทั้งอ.เมือง จ.พิจิตร งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำวังทองซึ่งจะสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยระเบย ความจุ 40 ล้านลบ. ม. งบประมาณ 1,550 ล้านบาทและอ่างเก็บน้ำห้วยแยง ความจุ 40 ล้านลบ. ม. เช่นกันที่ต.บ้านแยง อ.นครไทย สำหรับบรรเทาอุทกภัยในอ.วังทองและบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก รวมทั้งอ.เมือง จ.พิจิตร งบประมาณ 846 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 3,996 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยซ้ำซากและเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งอย่างพอเพียง


สำหรับจ.สุโขทัยมีแผนงานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำทั้งระบบของแม่น้ำยม โดยมีเป้าหมายให้สามารถรองรับน้ำที่ไหลผ่านอ.ศรีสัชนาลัยได้สูงสุด1,400 ลบ. ม./วินาทีประกอบด้วยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในลำน้ำสาขาและประตูระบายน้ำแม่น้ำยมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและตอนกลางเพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ลดยอดน้ำของแม่น้ำยมตอนบนและตอนกลางที่จะไหลลงพื้นที่แม่น้ำยมตอนล่าง ปรับปรุงคลองผันน้ำและประตูระบายน้ำเพื่อให้สามารถผันน้ำเลี่ยงเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัยออกทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม จากเดิมที่เคยรองรับน้ำได้ศักยภาพสูงสุดประมาณ 250 ลบ. ม./วินาทีเพิ่มเป็นศักยภาพสูงสุดประมาณ 500 ลบ. ม./วินาทีลงสู่คลองยมน่าน 300 ลบ. ม./วินาที และลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า 200 ลบ. ม./วินาที ปรับปรุงคลองระบายน้ำฝั่งขวาที่รับจากน้ำจากประตูระบายน้ำฝั่งขวาเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ให้สมบูรณ์ทั้งระบบเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 100 ลบ. ม./วินาที และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเข้าสู่คลองธรรมชาติทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่เชื่อมกับแม่น้ำยมเพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งและแก้มลิงธรรมชาติ จากเดิมที่สามารถตัดยอดน้ำได้ 130 ลบ. ม./วินาทีเพิ่มเป็นศักยภาพสูงสุดประมาณ 250 ลบ. ม./วินาทีซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างปีหน้า

...


ตนได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในสังกัดให้ มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เตรียมฟื้นฟูหลังน้ำลด ส่งความช่วยเหลือให้ประชาชนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งจะต้องเร่งเข้าตรวจสอบข้อมูลความเสียหาย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลทุกพื้นที่ ต้องเร่งสำรวจความเสียหาย และภายใน 1 สัปดาห์หลังน้ำลดจะต้องมีการรายงานข้อมูลเข้ามา พร้อมกับย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจูงน้ำมาใช้ประโยชน์ ในภายหลัง และจะต้องพิจารณาแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม ขณะที่กรมประมงจะต้องจัดหาพันธุ์ปลาเลี้ยง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ส่วนพืชไร่พืชสวน ที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดูเรื่องเมล็ดพันธุ์ การปลูกพืชทดแทน.