ชาวอุตรดิตถ์ อัญเชิญเถ้าอัฐิพระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอนุสรณ์สถานบ้านเกิด หลังถูกบรรจุไว้ที่สถูปของวัดราชคฤห์วรวิหาร เป็นระยะเวลา 237 ปี

วันที่ 11 ก.ค. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานบ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก (บ้านห้วยคา) หมู่ 9 ต.ในเมือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้มีพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก การแสดงของสำนักดาบพิชัยรณยุทธ์ การแสดงรำบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก และรำมังคละของโรงเรียนพิชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์

จากนั้นเวลา 12.39 น. พล.อ.สำเริง ศิวาดำรงค์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานในพิธี มีนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผวจ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วย รอง ผวจ.อุตรดิตถ์ นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอพิชัย นายชมสวัสดิ์ อัศวเหม ผู้ริเริ่มก่อสร้างอนุสรณ์สถานบ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก เมื่อปี 2543 และได้ขอเถ้าอัฐิพระยาพิชัยดาบหักที่ถูกบรรจุไว้ที่สถูปของวัดราชคฤห์วรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 237 ปี เพื่อมาบรรจุที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน เข้าร่วมพิธี

...

พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา อ.พิชัย เมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา ได้ศึกษาวิชาความรู้อยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นายทองดี มีความสามารถอย่างยิ่งทั้งด้านการชกมวยและฟันดาบ จนเข้ามารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโชและพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ข้าศึกได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัยถึง 2 ครั้งด้วยกัน

ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" จากหลักฐานของคนในตระกูลของพระยาพิชัยที่ได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ วิชัยขัทะ เชาวปรีชา พบว่าเถ้าอัฐิของพระยาพิชัยบรรจุอยู่ที่วัดราชคฤห์วรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการประสานงานเพื่อขอนำเถ้าอัฐิของพระยาพิชัยนำกลับมาไว้ยังบ้านเกิดที่บ้านห้วยคา อ.พิชัย จากพระเทพวิสุทธิโสภณ(เฉลา)เตชวนฺโต ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัด หลังจากอัฐิพระยาพิชัยดาบหักถูกบรรจุไว้ที่สถูปของวัดราชคฤห์วรวิหารในปี พ.ศ.2325 เป็นระยะเวลา 237 ปี.