ผบ.ทหารสูงสุด-เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เป็นประธานเปิดการฝึกร่วม "คอบร้าโกลด์ 19" ในพื้นที่การฝึกทางทหารกองทัพภาคที่ 3 โดยมีกำลังพลทหารของ ทบ.ไทย-ทหารสหรัฐฯ และทหารอีก 29 ประเทศเข้าร่วมฝึกรวม 9,981 นาย พร้อมกำชับทหารไทยดูแลทหารทุกชาติเสมือนเป็นพี่น้อง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ก.พ.62 พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดร.ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประเทศไทย และ พล.ท.แกรี่ เจ. โวเลสกี แม่ทัพน้อยที่ 1 กองทัพบกสหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นประธานเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 19 ที่ลานอเนกประสงค์ ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ร่วมในพิธีเปิด

สำหรับค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กองทัพบกได้จัดตั้งให้เป็นกองบัญชาการกองกำลังร่วมผสมนานาชาติ (Multi National Forces : MNF HQs.) ร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และมิตรประเทศ ทำการฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAEFF Exercise : STAFFEX) ในลักษณะการฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา (C2EX) ระหว่าง 11-21 ก.พ.62 โดยมี พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นผู้บัญชาการกองกำลังร่วมผสมนานาชาติ ตามแนวความคิดในการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ ที่เป็นการฝึก Light Year ตามวัตถุประสงค์การพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก, พัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ รวมทั้งเป็นการฝึกใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ

...

ส่วนการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) จะมีการฝึกอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง (Non-Combatant Evacuation/Rescue of Japanese Nationals Overseas : NEO/RJNO) ที่กองบิน 46 อ.เมือง จ.พิษณุโลก ประกอบด้วยฝ่ายไทย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ใน 17 ก.พ.62 เวลา 12.00 น. โดยมี พล.อ.ปริญญา ขุนนาศรี รองเสนาธิการทหาร DCM Robet Post ผู้แทนกองทัพสหรัฐอเมริกา และนาย Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกันเป็นประธาน และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise : CALFEX) จัดขึ้นที่สนามฝึกกองทัพภาคที่ 3 บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ประกอบด้วยฝ่ายไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ใน 22 ก.พ.62

นอกจากนี้ในส่วนของโครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance : HCA) ระหว่าง 21 ม.ค.-21 ก.พ.62 โครงการก่อสร้าง (Engineer Civic Assistance Program : ENCAP) ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 จะมีการส่งมอบอาคารอเนกประสงค์ให้กับโรงเรียนวัดจอมทอง ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่จัดสร้างโดยทหารไทย ทหารสหรัฐฯ และทหารญี่ปุ่น ในวันที่ 21 ก.พ. เวลา 15.00 น. โดยมี พล.อ.ชัยชนะ นาคเกิด เสนาธิการทหาร DCM Robet Post ผู้แทนกองทัพสหรัฐอเมริกา และนาย Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกันเป็นประธานในพิธีส่งมอบ

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ ในระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของกำลังพลมิตรประเทศ ที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย

...

การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 38 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ รวมทั้งการฝึกใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติในการฝึกคอบร้าโกลด์ 19

...



ในปีนี้การฝึกคอบร้าโกลด์ มีประเทศเข้าร่วมการฝึกรวมทั้งสิ้น 29 ประเทศ ได้แก่ ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ประกอบด้วย จีน และอินเดีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ (Multinational Planning Augmentation Team : MPAT)

จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ บังกลาเทศ มองโกเลีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และนิวซีแลนด์ ประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึก (Combined Observer Liaison Team : COLT) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ลาว เวียดนาม เยอรมนี อิสราเอล ปากีสถาน สวิตเซอร์แลนด์ ศรีลังกา เมียนมา และสวีเดน จำนวนผู้เข้ารับการฝึกรวม 9981 นาย โดยใช้พื้นที่กองทัพภาคที่ 3 และบริเวณอ่าวไทยตอนบน เป็นพื้นที่การฝึกหลัก ในระหว่างวันที่ 12-22 กุมภาพันธ์ ประกอบด้วย การฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAEFF Exercise : STAFFEX) การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) และโครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance : HCA)

...