ชาวบ้านอ.เชียงแสนจำนวนหลายร้อยคนเข้าร่วมการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนจากโรงแต่งแร่บ้านคิลตี้ล่าง หลังเกิดกระแสต่อต้านการตั้งโรงงานแห่งนี้ เพราะหวั่นสารพิษไหลลงแม่น้ำ...

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 พ.ย.61 ที่ศาลาทำการกองทุนหมู่บ้านสันมะเค็ด ม.9 ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนจากโรงแต่งแร่บ้านคิลตี้ล่าง มีนาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ทนายความ และว่าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ครูตี๋) ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และพระเดช พรมสวัสดิ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และนายนรินทร์ ทารัตน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีชาวบ้านในหมู่บ้านสันมะเค็ด บ้านแม่คำเกษตร บ้านแม่คำหนองบัว และบ้านปางหมอปวง กว่า 200 คนเข้ารับฟัง แต่ละคนใส่เสื้อแสดงสัญญลักษณ์มึคำว่า “คนเชียงแสนคัดค้านไม่เอาโรงงานแต่งแร่”



ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 8 ต.ค.61 มีตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน คัดค้านไม่เอาโรงแต่งแร่ดีบุก ที่จะมาตั้งในพื้นที่บ้านสันมะเค็ด ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน ประมาณ 70 คน นำโดยนายอิ่นคำ แสนศักดิ์หาญ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านแม่คำหนองบัว ต.ป่าสัก นายประยุทธ แสนศักดิ์หาญ บ้านแม่คำหนองบัว และชาวบ้านในตำบลป่าสักประมาณ 70 คน ถือป้ายประท้วง มีข้อความว่า คัดค้าน ต่อต้าน การก่อสร้างโรงงานคัดแยก-ถลุงแร่ดีบุก เข้าร้องคัดค้านต่อนายพินิจ แก้วจิตคงทอง นายอำเภอเชียงแสนขณะนั้น และตัวแทนได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านไม่เอาโรงงานแต่งแร่ดีบุก กับศูนย์ดำรงธรรมส่วนหน้าคราวพลเอกประยุทธ นายกรัฐมนตรีมาประชุม ครม.สัญจร ที่ เชียงราย

...



ทางด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า การประท้วงไม่เอาโรงงานถลุงแร่ในประเทศไทยมีหลายครั้ง ของชาวเขียงแสนเป็นครั้งที่ 3 จากที่ตัวเองได้เข้าไปช่วยชาวบ้านคิลตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ที่ได้ผลกระทบจากบริษัทตะกั่วแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี และได้เห็นผลที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบหลายด้าน “ ปัจจุบัน ชาวบ้านหลีกเลี่ยงใช้น้ำจากห้วยแล้ว แต่บางคนก็ใช้อยู่บ้าง ซึ่งห้วยปนเปื้อนสารตะกั่ว สารตะกั่วเป็นสารที่ร่างกายคนไม่ต้องการเลย เมื่อเข้าสู่ส่วนใดก็จะส่งผลกระทบต่อส่วนนั้น เช่น ตับ หรือไต แต่ที่สำคัญและมีผลกระทบมากที่สุดคือสมอง โดยเฉพาะเด็กเล็ก เมื่อเข้าสู่สมองก็กระทบต่อพัฒนาการ บางคนคิดช้า พิษจากสารตะกั่วในเลือด หากผู้ได้รับสารพิษ และติดไข้มาลาเลียมาก่อน พิษนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ”



นายสุรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า จากที่ดูผังโรงงานแต่งแร่ ที่บอกว่าเป็นโรงงานแบบปิด การแต่งแร่ต้องใช้น้ำ จากบ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 แล้วส่งไปบ่อน้ำใส 2 บ่อ แล้วไม่เห็นบอกว่าจากนั้นน้ำนั้นจะไปที่ไหน คงต้องไหลลงคลองเล็กๆ แล้วมาลงที่หนองบัวหลวง แล้วลงน้ำคำ และสุดท้ายก็ลงแม่น้ำโขง ต่อไปลุ่มน้ำที่อยู่ใต้เชียงแสนก็จะได้รับสารปนเปื้อนในแม่น้ำโขงอย่างหลีกไม่พ้น 



ขณะที่นายประยุทธ แสนศักดิ์หาญ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน กล่าวว่าพวกตนและชาวบ้านไม่ยอมให้มีการตั้งโรงงานแต่งแร่ดีบุกในเขตบ้านสันมะเค็ดอย่างเด็ดขาด หลังจากได้ฟังผลกระทบของพิษจากสารตะกั่วที่ทำให้เด็กได้รับสารตะกั่ว จะกลายเป็นเด็กพิการทางสมอง ซึ่งเป็นลูกหลานของคนเชียงแสน ซึ่งตนยอมไม่ได้ที่จะให้มีโรงงานแต่งแร่ดีบุกในเชียงแสนอย่างเด็ดขาด.