ศิลปินเชียงรายร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ถ้ำหลวงวาดภาพ The Hero ปั้นหุ่นจ่าแซม สร้างศาลาโชว์วีรกรรม อ.เฉลิมชัย ยังห่วงหวั่นสร้างเสร็จแล้วภาครัฐดูแลไม่ได้ เพราะจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก....

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.61 ที่สมาคมขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2554 พร้อมด้วยศิลปินชาวเชียงรายที่สวมใส่เสื้อยืดสีขาว The Hero จำนวนกว่า 100 คน ได้นำภาพวาดต้นแบบการปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 เยาวชนหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย รูปปั้นหุ่นจำลอง จ่าเอกสมาน กุนัน หรือ จ่าแซม และรูปภาพโครงสร้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จะทำการก่อสร้างหน้าถ้ำหลวง ออกแสดงให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงแนวทางและกิจกรรมที่จะดำเนินการ เพื่อยกย่องเชิดชูภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าและจัดสร้างเป็นอนุสรณ์สถานนี้ขึ้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะใช้งบประมาณส่วนตัวของอาจารย์เฉลิมชัย ประมาณ 10 ล้านบาท

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า ภาพดังกล่าว มีชื่อภาพว่า 'The Hero' บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละคร ที่มีบทบาทได้เข้ามาช่วยเหลือ 13 ทีมเยาวชนหมูป่า โดยใช้ด้านหน้าสมาคมขัวศิลปะเชียงราย เป็นจุดวาด โดยมีศิลปินชาวเชียงรายช่วยกันวาดด้วยสีซีเปีย คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 วัน ประชาชนสามารถเข้าชมการวาดได้ จากนั้นจะตกแต่งแก้ไขภาพให้สมบูรณ์ที่สุด เมื่อเสร็จแล้วจะให้ประชาชนได้ชมประมาณ 10 วัน ก่อนจะนำไปเก็บไว้ที่วัดร่องขุ่น เพื่อรอนำไปติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวงต่อไป

...

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนรูปปั้น จ่าเอกสมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม กองทัพเรือ ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าว ตอนนี้ได้ถอดแบบสำเร็จแล้ว โดยฝีมือของศิลปินรุ่นใหม่ชาวเชียงราย ที่ใช้เวลาปั้นหุ่นต้นแบบเพียง 1 วัน ซึ่งจากนี้ไปจะทำการปั้นขนาดจริง สูงประมาณ 2 เมตร 40 เซนติเมตร ที่วัดร่องขุ่น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน จากนั้นจะส่งโรงหล่อที่จังหวัดอยุธยา อีกประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะนำไปไว้ด้านหน้าศาลาที่จะสร้างขึ้น ที่วนอุทยานถ้ำหลวง ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะแล้วเสร็จ ส่วนศาลา หรืออาคารพิพิธภัณฑ์ ที่ออกแบบโดยอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินชาวเชียงราย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องไม้ เป็นผู้ก่อสร้าง โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนงบประมาณให้ก่อน 1 ล้านบาท 

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานที่เบื้องต้นได้รับการอนุญาตจากวนอุทยานแล้ว ซึ่งวันสองวันนี้ตนจะเข้าไปดูสถานที่ก่อสร้างที่วนอุทยานถ้ำหลวง เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์ สร้างเสร็จ ถ้ำหลวงจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ที่ใครก็อยากมา จะสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมครบ เมื่อสร้างเสร็จจะยกให้เป็นสมบัติของชาติ รัฐต้องดูแล แต่ก็เป็นห่วงเรื่องการบริหารจัดการของรัฐ จะต้องเป็นมืออาชีพ ต้องมีกระบวนการดูแลให้สวยงามตลอดเวลา  รวมทั้งตนและศิลปินก็จะจัดหารายได้ด้วยการจัดทำโปสเตอร์ โปสการ์ด ของฝากของที่ระลึกต่างจำหน่ายภายในศาลา เพื่อให้มีรายได้ให้เจ้าหน้าที่ได้นำไปบริหารจัดการอนุสรณ์สถานดังกล่าวอีกด้วย

จากนั้น อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย พร้อมด้วยศิลปินชาวเชียงรายจำนวนมาก ร่วมกันวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดความกว้าง 3 เมตร และยาว 13 เมตร ที่มีการร่างภาพเอาไว้แล้ว โดยเป็นภาพร่างจากการออกแบบของอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งเป็นภาพที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้รับการช่วยเหลือ จากหน่วยงาน องค์กร บุคคลต่างๆ ทั่วโลก ให้ออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย

ด้าน นายสราวุฒิ คำมูลชัย อายุ 27 ปี ศิลปินรุ่นใหม่ชาวเชียงราย ผู้ออกแบบรูปปั้นจ่าแซม เผยว่าดีใจมากที่ได้รับโอกาสจาก อ.เฉลิมชัย ให้ปั้นหุ่นต้นแบบ ยิ่งทราบว่าเป็นหุ่นของจ่าแซม เนื่องจากจ่าแซมเป็นผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ ตนได้ถอดแบบจากภาพจ่าแซมที่ปรากฏล่าสุด ในขณะเตรียมเข้าถ้ำหลวงไปเข้าช่วยเหลือทีมหมูป่าฯ เป็นต้นแบบ จากนั้นได้ตกแต่งองค์ประกอบอื่นๆ เข้าไป ทั้งชุดอุปกรณ์กู้ภัย หน้ากากดำน้ำ สายออกซิเจน ไฟฉายแบบคาดศีรษะ และรูปหมูป่าตัวน้อยทั้ง 13 ตัว โดยมีทีมศิลปินหลายคนช่วยปั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนคงเสร็จสมบูรณ์ทุกอย่าง

...

ส่วน อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเชียงรายอีกท่าน ที่รับผิดชอบการสร้างศาลา 13 หมูป่าและจ่าแซม กล่าวว่า ศาลาสร้างจากไม้ยุ้งข้าว หรือไม้เก่า สามารถคงทนอยู่ได้นาน ลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมทรงล้านนา 2 ชั้น ขนาดสูง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ภายในจัดแสดงภาพถ่าย รวมทั้งภาพขนาด 13 เมตร และผลงานด้านศิลปะเกี่ยวกับภารกิจถ้ำหลวงต่างๆ ใช้เวลาสร้างประมาณ 4 เดือน.