จักษุแพทย์ มธ. มั่นใจ "ดวงตา" ของ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงปลอดภัย ไม่มีอันตราย ชี้จอประสาทตาใช้เวลา 5-10 นาที ปรับการทำงานเป็นปกติหลังออกจากถ้ำ แนะค่อยๆ ให้เจอแสง ด้วยการสวมแว่นกันแดด
ภายหลังทีมปฏิบัติการสามารถค้นหาทีมหมูป่า 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย พบแล้วนั้น
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ก่อนอื่นตนขอร่วมแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคน และผู้คนอีกกว่าครึ่งโลกที่ส่งกำลังใจให้ทีมกู้ภัยฯสามารถช่วยเหลือน้องๆ นักฟุตบอลออกมาจากถ้ำหลวงได้สำเร็จ ส่วนประเด็นที่ผู้คนให้ความเป็นห่วง หนึ่งในนั้นคือการที่เด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำที่มืดสนิทนานเกือบ 10 วัน จะเกิดอันตรายกับดวงตาหรือไม่นั้น เท่าที่ประเมินจากคลิปที่เผยแพร่ออกมาขณะพบตัวทั้ง 13 คน คาดว่าไม่น่ามีปัญหาด้านดวงตา
ส่วนการออกจากที่มืดมาสู่แสงสว่างนั้นก็ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด เนื่องจากสามารถจอประสาทตาจะปรับให้รับแสงสว่างได้ แม้จะอยู่ในที่มืดมาเป็นระยะเวลานานก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่เกิดอันตรายถาวร ซึ่งต่างจากคนที่จ้องดวงอาทิตย์ตรงๆ แบบนี้จะทำให้จอประสาทตาเสียหายได้
"ในจอประสาทตาคนเรามีเซลล์รับแสง 2 ชนิด คือ เซลล์ชนิดแท่งสำหรับรับแสง และเซลล์ชนิดโคนสำหรับมองเห็นสี ซึ่งเมื่อเราอยู่ในที่มืด เซลล์ชนิดแท่งสำหรับรับแสงจะทำงานหนักขึ้น เพื่อพยายามให้เห็นแสง ขณะที่เซลล์รับสีจะทำงานน้อยลง เพราะไม่มีสีสันใดๆ ในที่มืด ดังนั้น เมื่อออกมาเจอแสงสว่าง การทำงานของเซลล์รับแสงที่เยอะผิดปกติจะทำให้รู้สึกแสงจ้ามากกว่าคนอื่นเห็น แต่จอประสาทตาปรับตัวเอง โดยเซลล์รับแสงจะกลับไปทำงานปกติ ส่วนเซลล์รับสีจะเริ่มทำงานมากขึ้น ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ ไม่เกิดความพิการถาวรอย่างที่หลายคนกลัว"
...
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า จอประสาทตาจะใช้เวลาในการปรับดวงตากับสภาพแวดล้อมใหม่ประมาณ 5-10 นาที โดยการปรับแสงสว่างนั้น ควรให้ค่อยๆ เจอแสงเพิ่มทีละน้อย เช่น เตรียมแว่นกันแดดให้ใส่ระหว่างนำเด็กๆ ออกสู่แสงสว่างครั้งแรก โดยสวมแว่นกันแดดตั้งแต่อยู่ภายในถ้ำ ซึ่งแว่นกันแดดจะใช้แบบใดก็ได้ หรือแว่นกันแดดทั่วๆ ไปก็ได้ เพราะใช้เพื่อตัดแสงเป็นเวลาไม่นาน 5-10 นาทีเท่านั้น เพื่อให้จอประสาทตากลับมาปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ ไม่เหมือนแว่นกันยูวีเวลาอยู่กลางแดด ที่ตามหลักแล้วจะต้องกันได้ 95-98% ทั้งนี้ แม้จะมีการอยู่ในที่มืดมานานเป็นเดือน หลักการก็เป็นเช่นเดียวกันคือ ดวงตาสามารถปรับรับแสงสว่างในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ แต่แค่ต้องค่อยเพิ่มการรับแสงทีละน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแลสภาพทั่วไปของน้องๆ แล้วสามารถนำไปตรวจสุขภาพตาเพิ่มเติมเพื่อความสบายใจได้