ภาพจากเฟซบุ๊กของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพถ่ายพระอาทิตย์ทรงกลดเหนือฟ้า จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงสายของวันนี้ โดยเป็นดวงอาทิตย์ทรงกลดในรูปแบบเซอร์คัมสไครบด์ กับเส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล เกิดพร้อมกัน...

เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เช้าวันนี้ (20 มิ.ย. 61) เฟซบุ๊กของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้เผยภาพถ่ายอาทิตย์ทรงกลดเหนือฟ้าเมืองเชียงใหม่ โดยมีคำอธิบายว่า สำหรับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด เกิดจากบรรยากาศของโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ ที่เป็นบรรยากาศชั้นล่างสุดและเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก มีอากาศเย็นจัดจนทำให้ละอองน้ำในอากาศแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งอนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนท้องฟ้า เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งอย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเหและการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดเป็นแถบสีรุ้ง คล้ายการเกิดรุ้งกินน้ำหลังฝนตก

ดวงอาทิตย์ทรงกลดจะเกิดเป็นวง หรือเรียกว่า ฮาโล (Halo) รอบดวงอาทิตย์ สามารถเกิดเป็นวงกลม หรือวงรีก็ได้ และอาจเกิดไม่เต็มวงก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการกระจายตัวของผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศ และจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป ส่วนมากจะมีขนาดเชิงมุมเฉลี่ยประมาณ 44 องศา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลก

...

ด้าน นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. ได้บันทึกภาพดวงอาทิตย์ทรงกลด
เหนืออุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงสายวันนี้ เวลาประมาณ 10.30-11.00 น. โดยได้ให้ข้อมูลว่า เป็นภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลดในรูปแบบเซอร์คัมสไครบด์ (Circumscribed halo) กับเส้นโค้งอินฟราแลตเทอรัล (Infralateral arc) ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน อยู่ใต้การทรงกลดแบบเซอร์คัมสไครบด์ ซึ่งมักเกิดในช่วงเช้า หลังราว 10.00 น. นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นวงกลมพาร์ฮีลิก (Parhelic circle) มีลักษณะเป็นวงสีขาวล้อมรอบฟ้า โดยอยู่แนวระดับเดียวกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ พาดผ่านดวงอาทิตย์.