ชาวสวนทุเรียนหลง-หลินลับแล ปีนี้ถือเป็นปีทองอีกครั้ง คนจองตั้งแต่ออกดอก เหมาทั้งต้น 5–8 หมื่นบาท ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดต้นพ.ค.นี้ คนจีนเช่าเหมาลำเครื่องบินมากินเป็นปีแรก 

วันที่ 17 เม.ย.61 ผู้สื่อข่าว จ.อุตรดิตถ์ รายงานว่า นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นายธีรพล เหมืองหม้อ เกษตรอำเภอลับแล และคณะลงพื้นที่สวนทุเรียนบ้านหลินลับแล หมู่บ้านผามูบ ต.แม่พูล อ.ลับแล ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของทุเรียนพันธุ์หลินลับแล เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว และปัจจุบันที่สวนยังรักษาต้นดั้งเดิมเอาไว้

นายสว่าง ปันลาด เจ้าของสวนทุเรียนบ้านหลินลับแล ทายาทของนายหลิน ปันลาด ผู้ให้กำเนิดทุเรียนพันธุ์หลินลับแล กล่าวว่า ที่สวนมีทุเรียนทั้งพันธุ์หลินลับแล หลงลับแล และหมอนทอง รวมกว่า 300 ต้น เป็นหลินลับแลมากที่สุด ปีนี้ได้รับการตอบรับคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผลผลิตมีมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 50 ด้วยสภาพอากาศเป็นใจ ไม่ร้อน ปริมาณฝนเพียงพอ ขณะที่ราคามีแนวโน้มอยู่ในระดับดีเช่นเดิม และความนิยมจองทุเรียนเหมาต้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกค้ามั่นใจได้ว่าเป็นของแท้ 100% ลูกค้าที่จองเหมาต้นส่วนใหญ่เป็นผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ บางรายมาไกลจากสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะตัดชั่งน้ำหนักขายตามราคาตลาดในขณะนั้น โดยคิดราคาตามเกรด เช่น หลินลับแลลูกสวยเกรด A ราคากิโลกรัมละ 800 บาท เกรด B ราคากิโลกรัมละ 600 บาท และเกรด C ราคากิโลกรัมละ 350 บาท เฉลี่ยต้นละ 50,000-80,000 บาท 

...

"รสชาติของทุเรียนลับแลมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งหลินลับแล หลงลับแล และหมอนทอง เพราะปลูกบนพื้นที่ราบสูง บนเขา บนดอย ปะปนไปกับต้นไม้ ผลไม้อื่นๆ เนื้อจึงแห้ง ไม่มีน้ำมาก รสชาติเข้มข้น โดยเฉพาะหลินลับแลที่แตกต่างตั้งแต่ผลมีลักษณะเป็นพูชัดเจนคล้ายมะเฟือง เนื้อเหนียว แห้ง รสเข้มข้น แต่กลิ่นอ่อน สุกแค่ไหนก็ไม่เละ หรือที่เรียกว่าปลาร้า จึงได้รับความนิยมจากคนรักทุเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นสั่งจองกันล่วงหน้าแบบเหมาต้นตั้งแต่เพิ่งเริ่มออกดอก" นายสว่าง กล่าว 

นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอลับแล กล่าวว่า ทุเรียนลับแล ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอำเภอลับแล เป็นแหล่งปลูกทุเรียนร้อยละ 90 ของจังหวัด รวมพื้นที่ปลูกกว่า 23,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นหมอนทองกว่า 20,000 ไร่ ที่เหลือเป็นหลงลับแลกว่า 2,000 ไร่ หลินลับแล 400 กว่าไร่ และมีพันธุ์พื้นเมืองอีกเล็กน้อย คาดการณ์ผลผลิตปีนี้มี 4 รุ่น รวมกว่า 20,000 ตัน แนวโน้มราคาไม่มีตกแม้จะมีผลผลิตมากขึ้น โดยหมอนทองราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท หลงลับแล 300-500 บาท หลิน 400-800 บาท เป็นมูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท 

ขณะนี้กำลังขยายตลาดเพิ่มเติม โดยเชื่อมโยงกับบริษัทนำเที่ยวของจีน ซึ่งปีนี้จะมีทัวร์เช่าเหมาลำเข้ามาชิมทุเรียนถึงสวนลับแลเป็นปีแรก เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่จะมาชมวิถีชีวิตชาวสวนลับแลที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น เพราะปลูกบนที่สูง วิธีการเก็บเกี่ยว ขนส่งจึงค่อนข้างยากลำบาก มีการใช้สลิง ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง เป็นเสน่ห์ที่หาชมได้ที่นี่ที่เดียว ซึ่งจะกระตุ้นตลาด ช่วยดูดซับผลผลิตในพื้นที่ได้อย่างมาก

ด้าน นายธีรพล เหมืองหม้อ เกษตรอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า การันตีว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้ มีคุณภาพดีแน่นอน เพราะปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวย ทั้งสภาพอากาศที่เป็นใจ ไม่พบการระบาดของโรค หรือแมลง หรือหนอน นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจสวนทุเรียนของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการผลิตทุเรียนคุณภาพ และปลอดภัย