แม่ทัพภาค 3 รับจะนำความคิดเห็นต่างๆ รายงานเสนอ คสช.รื้อ ไม่รื้อ กรณีสร้างบ้านพักศาล เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ยังต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้ง 19 เม.ย.นี้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 เม.ย. นี้ ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นตัวกลางในการระดมความเห็นในเวทีสาธารณะ กรณีการก่อสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่และตัวแทนเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้สั่งการผ่านผบ.ทบ.ว่า เมื่อการแก้ไขปัญหากรณีบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่สามารถไกล่เกลี่ยในระดับมณฑลได้ จึงได้มอบหมายให้ตนในฐานะเป็นตัวแทนคสช.ให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อจะนำข้อมูลและข้อสรุปจากเวทีครั้งนี้เสนอทาง คสช. สำหรับตัวแทนทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่เดิมได้แจ้งตอบรับว่าจะมาร่วมในเวทีสาธารณะนี้ด้วย แต่เพิ่งจะมาแจ้งในช่วงเช้าวันนี้ (9 เม.ย.) ว่า ไม่สามารถมาร่วมได้ รวมถึงไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วย ขณะที่ทางคณะกรรมการตุลาการเอง ก็มีการประชุมในกรณีเรื่องบ้านพักฯ ในวันนี้เช่นเดียวกัน

...
ทางด้านนายชาติชาย นาคทิพวรรณ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (สบ.16) กล่าวว่า จากสภาพการขอใช้พื้นที่พบว่า เป็นป่าดั้งเดิมจำนวน 40 ไร่ และป่าใช้ประโยชน์ 107 ไร่ ซึ่งจะเห็นร่องน้ำและสะพานในจุดที่มีการก่อสร้าง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 โซน โซนแรกยังคงสภาพเดิมของป่าเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ส่วนโซนที่ก่อสร้างบ้านเดี่ยว จำนวน 45 หลังจำนวน 47 ไร่ และจากลำห้วยถึงวงเวียนจะเป็นพื้นที่โซน 3 ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารชุด จำนวน 9 อาคาร เนื้อที่ประมาณ 43 ไร่ และโซนสุดท้ายเป็นที่สร้างสำนักงานเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 147 ไร่
นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (สบ.16) กล่าวอีกว่า สำหรับสภาพพื้นที่โซน 2 ที่มีการก่อสร้างบ้านเดี่ยว มีความลาดชัน 26% ส่วนจุดที่ก่อสร้างอาคารชุดกับสำนักงานมีความลาดชัน 12% สภาพพื้นที่ป่าบริเวณนี้จำแนกเป็นป่าเต็งรัง ในฤดูแล้งจะผลัดใบและมีโอกาสเป็นเชื้อเพลิงได้ง่ายในฤดูแล้ง ส่วนบริเวณที่เป็นบ้านพัก จุดที่ก่อสร้างเป็นที่สโลปหรือลาดชันสูงถึง 26% โดยดูจากภาพถ่ายซึ่งต้นไม้บางส่วนถูกตัดและที่ดินเปิดโล่ง สภาพดินเป็นดินลูกรัง ซึ่งง่ายต่อการถูกชะล้างในช่วงฤดูฝนหรือน้ำหลาก และยิ่งสโลปก็มีโอกาสพังทลายได้ง่าย ต้องมีการวางแผนจัดการระบายน้ำให้ดีไม่เช่นนั้นหน้าดินจะพังทลายลงมาได้

จากนั้นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนได้กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจชาวเชียงใหม่ พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ในการดำเนินการกับการก่อสร้างในครั้งนี้ที่เครือข่ายประชาชนจะเดินหน้าต่อสู้จนกว่าจะบรรลุผลคือให้รื้อบ้านพักศาลอุทธรณ์จำนวน 47 หลัง และอาคารชุดทั้ง 9 อาคาร และให้ฟื้นฟูสภาพป่า ตามนโยบายการปลูกป่าประชารัฐร่วมกันดูแลต่อไป
ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ผู้ร่วมเวทีครั้งนี้ได้หาทางออกร่วมกันได้มองเห็นในอีกประเด็นหนึ่งคือ ส่วนของผู้รับเหมาหรือเอกชนที่รับงาน ซึ่งไม่ได้ผิดสัญญาหากให้หยุด รัฐจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้ จะทำอย่างไร อีกกรณีในเรื่องของแนวดอยสุเทพ-ปุยที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพราะหอดูดาวก็สร้างใกล้ๆ จะทำอย่างไรทางเครือข่ายฯ ก็ต้องช่วยกันคิด ขอให้ภาคีช่วยกันคิดว่าต่อไปในอนาคตตรงไหนควรมี ไม่มี และสุดท้ายทางออกโดยสันติวิธีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้การทำงานต่อไปที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและราชการได้
อย่างไรก็ตาม พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวสรุปว่า ผลการประชุมวันนี้ ตนจะนำเสนอต่อผู้บัญชาการทหารบก ภายในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้หัวหน้าคสช.พิจารณา และในบ่ายวันนี้ (9 เม.ย.) ทางคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ก็จะมีมติออกมาเช่นเดียวกัน โดยตนจะนำเรียน ผบ.ทบ.ในฐานะเลขานุการคสช.ว่า ความต้องการของมวลชนคือ ให้รื้อบ้านพักศาลอุทธรณ์ จำนวน 47 หลัง และอาคารชุดทั้ง 9 อาคาร และให้ฟื้นฟูสภาพป่า ตามนโยบายการปลูกป่าประชารัฐร่วมกันดูแล

...
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 เม.ย. จะมีการลงพื้นที่จุดที่ก่อสร้างบ้านพักฯ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ทางผวจ.เชียงใหม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อไปดูสถานที่จริงและกำหนดจุดที่เหมาะสม และความต้องการของภาคประชาชนด้วย โดยจะทำหนังสือขออนุญาตทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย ถือว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดสันติวิธี ส่วนเรื่องของผู้รับเหมาจะให้ทำงานต่อให้เสร็จตามสัญญา หรือให้หยุดเพียงเท่านี้ แต่รัฐก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาจ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้รับเหมา ซึ่งรับงานราชการมาอย่างถูกต้องก็ให้ทางคสช.เป็นผู้พิจารณา และหากต้องรื้อบ้านพักที่ก่อสร้างไปรัฐก็ต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมทดแทนด้วย เพื่อเป็นการเยียวยาให้กับทางศาลอุทธรณ์ ภาค 5 รวมทั้งจัดหางบประมาณมาก่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ในพื้นที่เหมาะสม
ในกรณีที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาได้ลงพื้นที่และขีดเส้นให้ทุบทิ้งแล้ว ก็จะให้ทางสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ให้กับทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นผู้ดูแล และใช้ปลูกป่าประชารัฐ และถ้าหากภาคประชาชนมีเรื่องที่อยากจะนำเสนอให้หัวหน้าคสช. ขอให้ยื่นหนังสือผ่าน ผบ.มทบ.33 โดยขอให้คนที่จะเดินเท้าไปยื่นหนังสือยุติเพื่อรอผลการลงพื้นที่ ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ก่อน ส่วนประเด็นอื่นที่มีการนำเสนอในเวทีสาธารณะครั้งนี้ก็จะนำเสนอต่อผบ.ทบ., รมว.กลาโหม รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย