นักวิชาการ ชี้ รอยเลื่อน "น้ำมา" เขย่าแผ่นดินเมียนมารุนแรงต่อเนื่อง สัมพันธ์รอยเลื่อน "แม่จัน" ยังมีพลังรุนแรงถึง 6.5 ตึกทรุดพังทลายได้ ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ต้องเตรียมความพร้อมรับมือเผชิญเหตุป้องกันไว้ก่อนเสมอ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน ”เมียนมา” ติดต่อกัน 6 ครั้ง เมื่อคืนวันที่ 3-4 ก.พ. 61 เกิดความแรงสั่นสะเทือนขนาด 5.1 ลึก 5 กม. จุดศูนย์กลางที่เมืองสาดกับเมืองพยาก ของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 42 กม. เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 ขนาดความแรง 6.8 ทำให้บ้านเรือนชาวเมียนมาพังถล่มทลาย ถนนทรุดเสียหายหนัก มีคนตายจำนวนมาก ส่วนแผ่นดินไหวครั้งนี้มีผลให้หลายอำเภอของจังหวัดเชียงรายสามารถรับรู้แรงสั่นไหวได้อย่างชัดเจน บ้านโยกโยน แก้วน้ำสั่นไหว แต่ตึกอาคารสูง เจดีย์โบราณสถานสำคัญไม่ได้รับความเสียหาย เพียงสร้างความหวาดผวาแก่ชาวบ้าน เกรงเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเกิดซ้ำรอยวันที่ 5 พ.ค.2557 จุดศูนย์กลางที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ทำให้ครั้งนั้นทรัพย์สินเสียหายและคนตาย 2 คน
...
รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผ่นดินไหวเกิดในเมียนมาครั้งนี้ เป็นรอยเลื่อนน้ำมา ที่ยังมีพลัง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2554 ขนาด 6.8 ในพื้นที่ใกล้เคียงกับครั้งนี้ ซึ่งรอยเลื่อนน้ำมาเป็นเส้นคู่ขนานกับรอยเลื่อนแม่จัน แม่ลาว เชื่อมโยงรอยเลื่อนแม่อิง ผ่านแม่ลาว แม่จัน เชียงแสน เชียงของ ทะลุไปเมืองห้วยทราย ฝั่งลาว และเกิดแผ่นดินไหวที่หลวงน้ำทา ฝั่งลาว ขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2550 รอยเลื่อนทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกัน และยังมีพลังแรงดันให้เกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 6.5 ทำให้ตึกทรุดพังทลายได้ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รู้เพียงว่าบริเวณดังกล่าวมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง ทั้ง จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่.