จ.กาญจนบุรี จัดกิจกรรมสภากาแฟ ครั้งที่ 14 แถลงข่าว “อำเภอศรีสวัสดิ์ ประตูท่องเที่ยวแห่งภาคตะวันตก” ชูแผนการท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน เสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการผลิตสินค้าและบริการ
วานนี้ (7 พ.ค. 2567) ที่ลานกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นำโดย ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ภาคองค์กร และภาคเอกชน มาร่วมกิจกรรมสภากาแฟ ครั้งที่ 14 โดยมี นายศิริรัตน์ บำรุงเสนา นายอำเภอศรีสวัสดิ์ พร้อมด้วย นายสหัสนัย ยืนยงค์ ประธานชมรมท่องเที่ยวศรีสวัสดิ์ นายกิตธิสิทธิ์ ทุมมาส นายกเทศมนตรีตำบลเอราวัณ นายปราศาตร์ การอำนวย นายก อบต.ท่ากระดาน ผู้นำชุมชน ร่วมแถลงข่าว “อำเภอศรีสวัสดิ์ ประตูท่องเที่ยวแห่งภาคตะวันตก”

ภายในงานมีการนำเสนอการท่องเที่ยวของอำเภอศรีสวัสดิ์ ที่จะสร้างรายได้กระจายลงสู่ชุมชน และอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดกาญจนบุรี ในการมุ่งสู่การเป็นจังหวัดศูนย์กลางการท่องเที่ยวภาคตะวันตก (West tourism) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport tourism) จังหวัดกาญจนบุรี ประตูท่องเที่ยวแห่งภาคตะวันตก โดยอำเภอศรีสวัสดิ์ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจากทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา และอื่นๆ ร่วมกันจัดทำแผนงานมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนได้แผนงานพัฒนาอำเภอศรีสวัสดิ์ โดยการสร้างความสอดคล้องระหว่างการท่องเที่ยว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
...

มีการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติม กระจายทุกตำบลกว่า 30 แห่ง ยกระดับงานเทศกาลต่างๆ จากระดับตำบลเป็นระดับอำเภอ ทั้งเทศกาลประเพณี วัฒนธรรม เทศกาลอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชน เทศกาลสันทนาการ กีฬา ตลอดทั้งปีกว่า 14 งาน กำหนดกติกาการกระจายรายได้สู่ชุมชน เสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงกติกาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ การจัดการขยะ น้ำเสีย และพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดจะปรากฏใน MOU ที่ทุกภาคส่วนของอำเภอศรีสวัสดิ์จะร่วมดำเนินการ เพื่อให้การท่องเที่ยวของอำเภอศรีสวัสดิ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

จึงมีแนวทางร่วมกันในการสร้างกลไกและกติการ่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาอำเภอศรีสวัสดิ์เกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน โดยผู้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง ดังนี้
1. ด้านการสนับสนุนการท่องเที่ยว
1.1. ทุกภาคส่วนสนับสนุนเจ้าภาพจัดงาน หรือกิจกรรมตามปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี
1.2. ทุกภาคส่วนจะปฏิบัติตามข้อตกลง MOU ทั้ง 3 ด้าน
1.3. ทุกภาคส่วนสนับสนุนการส่งต่อนักท่องเที่ยว
1.4. ทุกภาคส่วนจะสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยว
1.5. ทุกภาคส่วนจะสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว

2. ด้านการกระจายรายได้สู่ชุมชน
2.1. ทุกภาคส่วนจะส่งเสริม สนับสนุน บุคคลหรือชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนในการเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว โดยการอบรมให้ความรู้ สนับสนุนงบประมาณ สร้างเครือข่าย เป็นต้น
2.2. ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ สนับสนุนผลผลิต สินค้า บริการ ของชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนของอำเภอศรีสวัสดิ์ โดยทำสัญญาหรือข้อตกลงซื้อขาย ตามศักยภาพของผู้ผลิตสินค้าและบริการ
2.3. ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ จัดพื้นที่ให้ผู้ผลิตสินค้า บริการ ของชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนของอำเภอศรีสวัสดิ์ มาวางขายหรือบริการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว
2.4. เจ้าภาพผู้จัดงานหรือกิจกรรมตามปฏิทินท่องเที่ยวประจำปีต้องจ้างงานในชุมชน
2.5. เจ้าภาพผู้จัดงานหรือกิจกรรมตามปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี จะมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่ชุมชน/หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่จัดงาน และสบทบเข้ากองทุนการท่องเที่ยว (กรณีจัดตั้งกองทุน) ยกเว้นการจัดงานหรือกิจกรรมนั้นเป็นการจัดเพื่อการกุศลโดยเฉพาะ
2.6. ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ร่วมกันจัดตั้งกองทุนการท่องเที่ยวศรีสวัสดิ์ โดยเก็บเงินรายปีจากสมาชิกหรือสบทบจากหน่วยงานอื่น บริหารกองทุนโดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
...

3. ด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.1. ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะส่วนราชการผู้ดูแลพื้นที่ จะสนับสนุนการใช้พื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้แก่ชุมชน
3.2. เจ้าภาพผู้จัดงานหรือกิจกรรมการท่องเที่ยว ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ข้อบังคับ ระเบียบ ของหน่วยงานในด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.3. ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่อยู่ในเขต อุทยาน เจ้าท่า และเขื่อนศรีนครินทร์ ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมที่กำหนดร่วมกันจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบตามกฎหมาย
3.4. หน่วยงานรัฐที่ร่วมกำหนดมาตรการควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต้องมีการหารือกับผู้แทนผู้ประกอบการท่องเที่ยวก่อนกำหนดมาตรการนั้นๆ

...
3.5. ให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม จัดโซนนิ่งของการดำเนินกิจกรรม การควบคุมเวลาดำเนินกิจกรรม การควบคุมเสียง แสง มาตรฐานของสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เป็นต้น
3.6. ให้มีการกำหนดเงื่อนไขประกอบการยกเลิกหรือต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการเพิ่มเติม โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตอุทยาน เจ้าท่า และเขื่อนศรีนครินทร์
3.7. ทุกภาคส่วนจะดำเนินการตามมาตรการการจัดการขยะ ภายในปี 2567 โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงาน
3.8. ทุกภาคส่วนที่ติดลำน้ำสาธารณะ เช่น คลอง อ่าว บึง เป็นต้น จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนลงลำน้ำสาธารณะ โดยต้องติดตั้งถังดักไขมันในระยะ 1 ปีแรก และระบบบำบัดน้ำเสียภายใน 3 ปี
3.9. ทุกภาคส่วน จะร่วมกันสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และประหยัดพลังงาน

ในการจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของอำเภอศรีสวัสดิ์ ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ อุทยานทั้งสามอุทยาน เขื่อนศรีนครินทร์ ท้องที่ ท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน ในการจัดบูธนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนของแต่ละโซนการท่องเที่ยว ซึ่งแบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้
...
โซนที่ 1 แก่งแคบ-เอราวัณ ประกอบด้วยบูธศูนย์อนุรักษ์วัวแดง วิสาหกิจชุมชนแก่งแคบ สวนทุเรียนอินทรีย์ โรงคั่ว กาแฟอมตะลา เขื่อนศรีนครินทร์ น้ำตกเอราวัณ ล่องแพ แพพัก เซิร์ฟบอร์ด
โซนที่ 2 ท่ากระดาน ประกอบด้วยบูธเขาพวง เขากระทะ พิพิธภัณฑ์หอย วัดท่ากระดาน ไร่สัปปะยะ (โคกหนองนา) ฟาร์มพีรพล
โซนที่ 3 นาสวน-เขาโจด ประกอบด้วยบูธภาพวาดสีโบราณ 3,000 ปี ชุมชนนวัตวิถี (กะเหรี่ยง) ถ้ำองค์จุ เขาโกเต็ง อุทยานเฉลิมรัตน์ฯ องหลุ โบสถ์สแตนเลส
โซนที่ 4 แก่งเรียง-ห้วยแม่ขมิ้น ประกอบด้วยบูธแก่งเรียงคาเฟ่ วัดถ้ำพระธาตุ เจ้าแม่ตะเคียนทอง ท้าวเวสสุวรรณ เจดีย์ สัจจะ ถ้ำพระปรางค์ ต้นมะขามยักษ์ อุทยานแห่งชาติห้วยแม่ขมิ้น หมู่บ้านปากเหมือง.

