ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน มหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 ที่อุบลราชธานี ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยผ่านไป 9 วัน ทำให้เงินสะพัดทะลุ 60 ล้านบาท

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 9 เม.ย. 67 ที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานลั่นฆ้องเปิดงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 ในชื่องาน "อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festiva" ตลอดเดือนเมษายน โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหารให้การต้อนรับ

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากการรายงานของทางผู้จัดงานพบว่า มีเงินหมุนเวียนในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงวันนี้ (9 เม.ย.) ทำรายได้กว่า 60 ล้านบาทแล้ว ทำให้ชาวบ้านในอำเภอพิบูลมังสาหารใช้แก่งสะพือแห่งนี้สืบทอดตำนานสงกรานต์ของคนอุบลฯ ขอให้นายอำเภอและประชาชนชาวอำเภอพิบูลมังสาหารดูแลแก่งสะพือให้สะอาดสวยงามมากขึ้น 

ด้านนางมะลิวรรณ แก้วเกล้า อายุ 39 ปี แม่ค้าให้เช่าห่วงยาง เปิดเผยว่า ปีนี้รู้สึกว่าดีกว่าทุกปี นายกเทศบาลขอให้เขื่อนปากมูลเปิดเขื่อนระบายน้ำตั้งแต่ 15 มีนาคม มีนักท่องเที่ยวทยอยมาเล่นน้ำถึง 2-3 ทุ่ม หลังจากที่ไม่เห็นแก่งแบบนี้มานานหลายปี ก่อนหน้านี้ตนเองก็จะไปรับจ้างทั่วไป จะมาเฉพาะสงกรานต์ แต่คนก็จะไม่เยอะเหมือนปีนี้ หลังหมดเทศกาลวันที่ 16 ก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม ตนคิดว่าถ้ามีแบบนี้ทุกปีชาวบ้านพิบูลมังสาหารก็จะสามารถลืมตาอ้าปากได้ อยากให้มีแบบนี้ทุกปี 

ด้านองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก มีประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year festival) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage - ICH) ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

...

ดังนั้น งานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ จึงเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม จังหวัดอุบลราชธานี จึงร่วมกับ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และภาคีเครือข่ายจัดงาน มหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 โดยใช้ชื่องานว่า "อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival" เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรักและความสามัคคี เป็นการผูกมิตรไมตรีระหว่างคนในชุมชน และเป็นการสร้างความสนุกสนานสำราญใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ประกอบกับบริเวณแก่งสะพือของอำเภอพิบูลมังสาหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นที่รู้จักของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี. 

...