ผู้อาศัยในทะเล เกาะช้าง กว่า 400 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 บอกอยู่อาศัยทำกินกันมานาน 50-80 ปี เป็นวิถีดั้งเดิม ถามไม่มีที่ดินบนฝั่ง แล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน...
วันที่ 7 มิ.ย.60 นายสมเกียรติ บุญลอย ประธานสภา อบต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด เปิดเผยว่า หลังจากที่พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำฯ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.60 ระบุให้เจ้าของผู้ที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต้องไปแจ้งขออนุญาตกับสำนักงานเจ้าท่าฯ ในพื้นที่-กรมเจ้าท่า ภายในวันที่ 22 มิ.ย.60 หากไม่มาแจ้งตามกำหนดจะมีโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารในอัตราตารางเมตรละ 500 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และต้องรื้อถอนภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนผู้ปลูกที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองในทะเล ที่ประกอบอาชีพประมงทะเล ร้านอาหารต่างๆ ได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันไปทั่วในพื้นที่ ต.เกาะช้างใต้ กระทบรวม 5 หมู่บ้านกว่า 300 หลังคาเรือน และพื้นที่ ต.เกาะช้าง กระทบรวม 3 หมู่บ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่มาช้านานตั้งแต่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ได้มีการบุกรุกใหม่ จึงขอวิงวอนผ่านสื่อมวลชนไปยังท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช.ได้สั่งการให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน หรือแก้กฎหมาย และหาทางออกที่ดีกว่านี้
...
ขณะที่ นายสมคิด แดงตะนุ สมาชิกสภา อบต.หมู่ 5 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง กล่าวว่า การที่หน่วยงานภาครัฐจะออกกฎหมาย มาบังคับใช้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของวิถีชุมชน อย่างที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบ และความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมทะเล ในทะเล เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบอาชีพประมงทะเลมาช้านาน ต้องทำมาหากินอยู่กับทะเล เป็นวิถีดั้งเดิม บางคนอาศัยอยู่ริมทะเลในทะเลมานาน 50-80 ปี ส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ แล้วที่ภาครัฐมากำหนดค่าปรับสิ่งปลูกสร้างในน้ำ ตารางเมตรละ 500 บาท พวกเขาจะเอาเงินที่ไหนไปเสียค่าปรับ ซึ่งก่อนจะออกกฎหมาย ควรจะมีการออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านจำนวนมากอาศัยอยู่มาก่อนปี 2525 ที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ควรจะได้สิทธิอยู่ต่อ และกำหนดเขตห้ามไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่ม (รายใหม่) ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของ อบต.เกาะช้างใต้ และผู้นำชุมชนของแต่ละพื้นที่ทั่วเกาะช้าง ก็ได้ออกสำรวจรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้ว

ด้าน นายเติมศักดิ์ เสริฐศรี สารวัตรกำนัน ต.เกาะช้างใต้ กล่าวว่าในพื้นที่ชุมชนบ้านบางเบ้า ประชาชนได้อาศัยอยู่ในทะเลมาช้านานกว่า 100 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่จะประกอบกอบอาชีพธุรกิจเกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวเช่น ทัวร์ดำน้ำ-ค้าขายสินค้าพื้นบ้าน-ร้านอาหาร-เสื้อผ้า-ของฝากประเภทต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนที่มีร้านขายสินค้าประเภทสินค้าพื้นเมืองของฝากให้แก่นักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของเกาะช้างในอดีตที่ผ่านมาก็มีปัญหา เวลาที่ชาวบ้านได้มีการปรับปรุงบ้านเรือนที่เกิดการชำรุดจากเดิมที่พื้นหรือเสาบ้านเป็นไม้ จะเปลี่ยนเป็นคอนกรีตก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม้แปรรูปก็มีราคาแพงมาก และหายากในพื้นที่ และที่สำคัญเวลาชาวบ้านจะซ่อมแซมบ้านเรือนจะรู้ดีว่าต้องอยู่ในแนวเขตเดิม แต่สุดท้ายชาวบ้านก็มีความผิด แล้วจะให้ชาวบ้านเขาทำอย่างไร จะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหน เพราะพวกเขาไม่มีที่ดินบนฝั่ง
"ล่าสุดก็มีการออก พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ยิ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว พากันกินไม่ได้นอนไม่หลับ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของ อบต.เกาะช้างใต้ ได้ลงพื้นที่วัดขนาดการใช้พื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยในน้ำของแต่ละครัวเรือนร่วมกับผู้นำชุมชน พร้อมกับรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด นำไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการ จ.ตราด ผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ-จังหวัด และส่วนที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อไป"