ไฟไหม้แท็งก์น้ำมัน บ.มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล เจ้าหน้าที่พยายามคุมไฟไหม้ให้อยู่ในวงจำกัด ล่าสุดฉีดน้ำหล่อเลี้ยงไม่ให้ลุกลามแต่ก็ยังดับไฟได้ไม่หมด เผย "มาบตาพุด แทงค์" เคยเกิดเหตุถังระเบิดเมื่อปี 2564 ตายไป 3 ศพ
วันที่ 9 พ.ค. 67 จากเหตุเพลิงไหม้ ถังน้ำมัน (สาร Pyrolysis Gasoline) บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถนนไอแปด ท่าเรือมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งไฟลามจากถังแรกที่เกิดเพลิงไหม้ ไปถังที่ 2 ซึ่งอยู่ติดกัน
ความคืบหน้า เมื่อเวลา 15.30 น. นายอัธยา นวลอุทัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ไฟได้ลุกไหม้ลุกลามไปถังที่ 2 นอกจากนี้ยังมีถังขนาดเล็กที่อยู่รอบมีไฟลุกลามด้วย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงฉีดน้ำหล่อเลี้ยงไว้ เพื่อให้เพลิงอยู่ในวงจำกัด จะเห็นได้จากเปลวไฟเริ่มลดความรุนแรงลง แต่ก็ยังคงลุกไหม้ ซึ่งถังที่ถูกไฟไหม้เป็นถังสารแก๊สโซลีน มีความสูง 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เมตร บรรจุได้ 2,500 ลูกบาศก์เมตร ส่วนถังที่ 2 มีขนาดเท่ากันแต่เป็นสารคนละประเภท ล่าสุด เจ้าหน้าที่ฉีดลดความรุนแรงของเพลิง และสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว
สำหรับพนักงานโรงงานใกล้พื้นที่ไฟไหม้ มีการอพยพพนักงาน รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่จุดเสี่ยงไปอยู่ที่ โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ซึ่งอยู่ในจุดที่ปลอดภัย โดยทางสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้ส่งทีมแพทย์พยาบาลลงมาดูแลผู้ประสบภัย
ส่วนรายชื่อ ผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อนายนพพร เรือนมา ผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย 1.นายณิชฌาน ติ๊บประสอน 2.โชคชัย ชูชุ่ม 3.จักรลักษณ์ ถิ่นระแก้ว ส่วนอีกรายไม่ทราบชื่อ ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัลฯ แห่งนี้ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุระเบิด มีคนงานเสียชีวิต 3 ศพ
...
เวลา 16.50 น. วันที่ 9 พ.ค. นายอัธยา นวลอุทัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง เปิดเผยอีกครั้งว่า ขณะนี้ทีมดับเพลิงสามารถดับไฟที่ลุกไหม้ถังน้ำมันได้แล้ว โดยใช้โฟมฉีดในการดับไฟ สามารถควบคุมเพลิงได้ แต่ยังคงต้องฉีดโฟมหล่อเลี้ยงไว้ก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าไฟดับร้อยเปอร์เซ็นต์ สรุป ไฟไหม้ถังสารไปทั้งหมด 2 ถังใหญ่ และพื้นที่โดยรอบเสียหายทั้งหมด โดยใช้เวลาดับไฟ 8 ชั่วโมง
ด้าน ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ( EMCC) แจ้งว่า สามารถควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัด ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง ไม่พบกลุ่มควันแล้ว
ส่วนที่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ยังมีการอพยพพนักงานในพื้นที่เสี่ยงเข้าพักพิง โดยมีคนเข้ามาในศูนย์ชั่วคราวกว่า 400 คน มีเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนคอยดูแล