ช้างป่ากระทืบหนุ่มกรีดยางชาวเมียนมาดับสยองกะโหลกแตก ลำตัวเกือบขาด ลูกชายวัย 8 ขวบ เล่านาทีระทึกเห็นช้างไล่กระทืบพ่อจมดิน หันมาจะทำร้ายรีบปิดปากน้องวัย 5 ขวบที่ร้องไห้รอดตายหวุดหวิด ผู้นำท้องถิ่นวอนรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาช้างอาละวาดจนเกิดการสูญเสีย อย่าปล่อยให้ท้องถิ่นดูแลเพียงลำพัง ขณะนี้มีเหตุช้างทำร้ายคนตายแล้ว 2 ศพ ส่วน กสม.ประชุมร่วมหาทางแก้ปัญหาช้างป่านำเสนอรัฐบาล
เหตุช้างป่างาสั้นกระทืบชาวบ้านตายรายนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 2 ธ.ค. ร.ต.ท.อนุรักษ์ หนักแน่น รอง สว. (สอบสวน) สภ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รับแจ้งมีเหตุช้างป่ากระทืบคนงานกรีดยางเสียชีวิตที่บ้านหินแร่ หมู่ 7 ต.ท่ากระดาน ไปตรวจสอบพร้อม พ.ต.อ.สุมิตร พรมตอง ผกก.สภ.สนามชัยเขต เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แพทย์ และอาสาหน่วยกู้ภัยพนม จุดทุ่งพระยาและจุดสนามชัยเขต
ที่เกิดเหตุเป็นสวนยางพาราพบศพนายซอว ซอว อาว อายุ 33 ปี ชาวเมียนมา สภาพนอนคว่ำหน้าจมดิน กะโหลกแตกมันสมองไหล กระดูกซี่โครงหัก และลำตัวเกือบขาด ที่พื้นพบรอยเท้าช้างขนาดใหญ่อยู่เต็มพื้นที่ ใกล้กันพบลูกชายผู้ตายวัย 5 และ 8 ขวบ นั่งร้องไห้อยู่ไม่ห่างศพ
สอบถามลูกชายผู้ตายวัย 8 ขวบทราบว่า พ่อขี่รถซาเล้งพาตนและน้องชายอายุ 5 ขวบ มาทำงานที่สวนยางพารา ส่วนน้องคนเล็กอยู่บ้านกับแม่ จังหวะที่พ่อไปรับจ้างกรีดยางในสวน ตนและน้องนั่งเล่นอยู่ที่รถซาเล้งเห็นช้างป่างาสั้นไล่ทำร้ายพ่อด้วยการเตะ และกระทืบร่างพ่อหลายครั้ง ตนกลัวมากและน้องร้องไห้เสียงดัง ช้างเดินมาหาที่รถจะเข้ามาทำร้าย ตนเอามือปิดปากน้องและปลอบให้หยุดร้องไห้ทำให้ช้างหันไปทางอื่น ตนรีบพาน้องวิ่งหนีขอความช่วยเหลือ
ต่อมานายทรัพย์ทวี กุลสารี นายก อบต.ท่ากระดาน เปิดเผยว่า มอบเงินสดส่วนตัว 5,000 บาทช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสีย วอนรัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาช้างป่าเพราะสร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียกับชาวบ้านมาหลายราย อย่าปล่อยให้ท้องถิ่นดูแลเพียงลำพัง ด้วยงบประมาณและอีกหลายปัจจัยยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านสังเวยชีวิตจากเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายคนตายเป็นรายที่ 2 เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นช่วงเช้าบริเวณบ้านอ่างเสือดำ หมู่ 7 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอำเภอติดต่อกันกับ อ.สนามชัยเขต พอตกค่ำเกิดเหตุช้างป่าทำร้ายคนเป็นศพที่ 2
...
ที่ศาลากลางจังหวัดระยอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประชุมหารือร่วมกันของ ผู้บริหารในจังหวัดภาคตะวันออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อการจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าที่ออกนอกแนวเขตป่าอนุรักษ์เข้าทำลายพื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน และร่างกายประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยองมอบหมายให้นายอนันต์ นาคนิยมรอง ผวจ.ระยอง เป็นผู้แทนจังหวัดระยองเข้าร่วมประชุม
น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า การประชุมวันนี้จะเป็นการสรุปข้อมูลแนวทางร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา รวมถึงกำหนดขอบเขตพื้นที่อาศัยของช้างป่า และการเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังคงพบความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง กสม.จะทำรายงานสรุปทั้งข้อเสนอและปัญหาอุปสรรครายงานไปยังรัฐบาล
นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 4,000 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ยากต่อการแก้ไขคือ ช้างป่าสามารถปรับตัวต่อแนวกั้นช้างในรูปแบบต่างๆได้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หารือกับกรรมาธิการแก้ปัญหาช้างป่ามาหลายครั้ง แต่ยังคงมีปัญหาด้านการทำโครงสร้างวิศวกรรมการสร้างแนวป้องกันช้างป่า และยังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณและความสอดคล้องกับระบบนิเวศมาโดยตลอด ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวแก้ไม่ง่ายต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกันทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาว่าปัจจุบันช้างป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงป่าในความดูแลของหน่วยงานรัฐ ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือแนวทางการแก้ปัญหาเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม จนก่อให้เกิดความขัดแย้งหลายฝ่าย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือขอให้ กสม.เข้ามาดำเนินการตามหน้าที่หรืออำนาจที่มี เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะในเชิงระบบไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง