“โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นอีกนโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ จวบจนปัจจุบัน มีเกษตรกรทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 28,224 ราย”
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกถึงที่มาของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ข้อมูลเดือนกันยายน เกษตรกรร่วมโครงการ 28,224 ราย แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20,016 ราย ภาคเหนือ 3,957 ราย ภาคกลาง 2,376 ราย และภาคใต้ 1,875 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานในโครงการ 13,649 ราย ในด้านการขุดสระเก็บกักน้ำ มีการดำเนินการทั้งหมด 28,011 ราย ขุดเสร็จแล้ว 23,720 ราย อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 4,291 ราย
สำหรับ จ.ปราจีนบุรี ถือเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีศรัทธาและสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ บวกกับสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม ดินดี ขุดสระได้เก็บน้ำอยู่ มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการ 267 ราย มีการจ้างแรงงาน 129 ราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ 29 ตำบล
...
ความคืบหน้าขณะนี้ มีการขุดสระเก็บกักน้ำเสร็จแล้ว 236 ราย คิดเป็น 88.39% และอยู่ในระหว่างขุด 31 ราย
นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการแรกของกระทรวงเกษตรฯที่มีการจ้างพี่เลี้ยงจากคนในตำบล เป็นเด็กจบใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ที่มีองค์ความรู้ทางการเกษตรมาเป็นคนให้ความรู้ ตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารการเกษตรในตำบล รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของกระทรวง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปรียบเสมือนคอยเป็นพี่เลี้ยงแทนหน่วยงานของรัฐ นอกจากเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่แล้ว ยังก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ในการดูแลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ผลจากการที่เกษตรกรได้รับความรู้ ความเข้าใจ เรียนรู้แนวคิด หลักการ และรูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการ บริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน สร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดการใช้สารเคมี พึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิตให้มากที่สุด รวมถึงได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน พันธุ์ปลา พันธุ์พืช ทั้งไม้ผล เมล็ดพันธุ์ผัก สมุนไพร พันธุ์สัตว์ และปัจจัยการผลิตเพื่อทำอาหารสัตว์
ก่อให้เกิดแปลงต้นแบบระดับจังหวัด 1 ราย คือ แปลงเกษตร มายด์ฟาร์ม @บ้านดงยาง ต.โนนห้อม อ.เมือง ปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ของ นายณิชพน เอกพันธ์ ที่มีความโดดเด่นในการวางแผนจัดการฟาร์มทุกกระบวนการอย่างมีเหตุมีผล ตั้งแต่การออกแบบและวางแผนผังแปลงของพื้นที่ การวางระบบการพัฒนาดิน แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางผังแปลงเพื่อการทำเกษตรกรรม
...
ทำเกษตรผสมผสานปลูกข้าว ประมงและปศุสัตว์ การวางแผนผังปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ตามหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการนำตัวอย่างจากโครงการพระราชดำริเกษตรกรรม ดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาแบบบูรณาการและโครงการพัฒนาด้านอื่นๆมาประยุกต์ พัฒนา และจำลอง เพื่อใช้จริง โดยเฉพาะการจัดการน้ำโดยหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในพื้นที่ของแปลง 4 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการ.
กรวัฒน์ วีนิล