ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา รุดช่วยชาวนาบางน้ำเปรี้ยวประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวราคาสูงแต่ไร้คุณภาพ สนับสนุนโรงสีเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในกลุ่ม
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 64 นายสุพจน์ จูเปีย ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่โพรงอากาศ กล่าวว่า แปลงใหญ่ข้าว ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งเรื่องราคาที่สูง แต่เมล็ดพันธุ์ก็ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เมื่อปลูกข้าวไปแล้วทำให้เมล็ดร่วง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ จึงเกิดความคิดที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ของกลุ่ม ซึ่งได้ขอรับคำปรึกษาจากศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กรมการข้าว พร้อมได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว และยังได้รับองค์ความรู้ต่างๆ ในการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และได้รับคำแนะนำว่าต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้กันเองภายในกลุ่มนาแปลงใหญ่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นจะต้องมีการดูแล ตัดพันธุ์ปน ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชในแปลงนา เพื่อให้ได้ข้าวที่สะอาด เฉลี่ยในกลุ่มแปลงใหญ่จะทำนาข้าวคนละ 5 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่โพรงอากาศมีสมาชิก 65 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 1,433 ไร่

...
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้กลุ่มพัฒนาและเข้มแข็ง โดยได้สนับสนุนโรงสีข้าวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในกลุ่มและแบ่งขาย การแปรรูปเพื่อจำหน่าย เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี สมาชิกกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากได้รับความรู้ เทคโนโลยีและได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ส่งผลให้กลุ่มลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลผลิตดีมีคุณภาพ ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น ปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี

สำหรับการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ กลุ่มนาแปลงใหญ่โพรงอากาศเป็นการส่งเสริมตามนโยบายในการปฏิรูปภาคการเกษตรที่สำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานภายนอกกระทรวงฯ และภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เกิดการรวมกลุ่ม รวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาด ง่ายต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการตั้งแต่วางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมีความสามารถในการจัดการผลผลิตสินค้าเกษตร มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่มาใช้ ตลอดจนถึงการตลาดให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจในการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิต การจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพ ต้นทุนการผลิตลดลงและผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเข้มแข็งสามารถแข่งขันในตลาดได้.
