"พล.อ.ประวิตร" ลงคุมเอง ประชุมเร่งรัดแก้ปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายในพื้นที่เมืองพัทยาเมื่อฝนตกหนัก โดยมีแผน 3 ระยะ มีทั้งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ปรับปรุงคลอง จัดการท่อระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุม ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ผ่านออนไลน์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิจารณาและติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญหลายโครงการ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 ปลายเดือน มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ มีการมอบหมายกรมโยธาธิการและผังเมือง และเมืองพัทยา เร่งโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาระยะที่ 1 ภายใต้แผนแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง รวมไปประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันแก้ปัญหาให้ยั่งยืน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กรมโยธาฯ ร่วมกับเมืองพัทยาศึกษาและทำแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม และระบายน้ำเมืองพัทยา รวมทั้งพื้นที่ต่อเนื่อง จำแนกพื้นที่พัทยาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา พื้นที่ชุมชนหนาแน่นมาก 2. พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ–ห้วยมาบประชัน และคลองกระทิงลาย พื้นที่ชุมชนหนาแน่นปานกลาง และชุมชนชานเมืองพัทยา และ 3. พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ พื้นที่ชุมชนหนาแน่นน้อย และชานเมืองของพัทยา แผนแบ่งเป็น 3 ระยะ ตามความเร่งด่วน ดังนี้ ระยะเร่งด่วน 1-5 ปี แก้น้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ระยะกลาง 6-10 ปี ปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง ซึ่งต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน และระยะยาว 11-20 ปี ปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำในส่วนที่เหลือ

...

สำหรับตามแผนระยะเร่งด่วน 1-5 ปีนั้น แบ่งการดำเนินงาน 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาระยะที่ 1 ดำเนินการโดยกรมโยธาฯ เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำในพัทยาใต้ เป็นระยะต้องดำเนินการด่วนมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่วิกฤติและมีปัญหาน้ำท่วมขังมากสุดเมื่อฝนตกหนัก เกิดความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบประชาชน จากนั้น ระยะที่ 2 อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท พัทยา 34 พัทยา 6 อุโมงค์ซอยสุขุมวิท พัทยา 54 ซอยเทพประสิทธิ์ 9 ซอยจอมเทียน 7 ดำเนินการโดยเมืองพัทยากับกรมโยธาฯ และระยะที่ 3 ท่อระบายน้ำหลักส่วนที่เหลือ ดำเนินการโดยเมืองพัทยาร่วมกับกรมโยธาฯ

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า โครงการฯ ระยะที่ 1 เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับน้ำฝน 80 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 15.39 ตารางกิโลเมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 38,740 ครัวเรือน สามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ น้ำหลากเร่งระบายยังสามารถสูบกลับ เพื่อเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้งได้ ซึ่งมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2563 ได้ให้กรมโยธาฯ เมืองพัทยา กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค ประสานงานกรณีดังกล่าว โดยตามแผนกำหนดแนวทางไว้ในแผนระยะยาว พ.ศ. 2575 เป็นต้นไป พื้นที่ดำเนินการอยู่นอกเขตเมืองพัทยา 4 แห่ง นอกจากนี้ เมืองพัทยาได้อนุญาตให้การประปาส่วนภูมิภาคสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก้มลิงห้วยใหญ่กลับไปยังห้วยซากนอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับมิติการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป.