สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เผยผลสำรวจลูกน้ำยุงลายพบ 10 ตำบล กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาด ต้องเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 248 ราย ตาย 2 ศพ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63 นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีถึง 29 มิถุนายน 63 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 248 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 44.13 ต่อแสนประชากร (ค่าเป้าหมายของจังหวัดสระแก้วอยู่ที่ 32.03 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต 2 ราย ที่อำเภออรัญประเทศและอำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอละ 1 ราย อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอวังสมบูรณ์ (124.38) รองลงมาได้แก่อำเภอเขาฉกรรจ์ (56.47) และอำเภอเมืองสระแก้ว (51.29) ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับระดับเขตสุขภาพที่ 6 (8 จังหวัดภาคตะวันออก) ทำให้ตอนนี้จังหวัดสระแก้วมีอัตราป่วยสูงเป็นลำดับที่ 4 ของภาคตะวันออกและลำดับที่ 15 ของประเทศ
...
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวต่อว่า จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายของ อสม. เพื่อดูความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายตามบ้านหรือ House Index (HI) ประจำสัปดาห์ที่ 25 พบ 10 ตำบลที่มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงสุดของจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ 1) ตำบลโนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร 2) ตำบลไทรทอง อำเภอคลองหาด 3) ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น 4) ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมืองสระแก้ว 5) ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น 6) ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ 7) ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา 8) ตำบลไทยอุดม อำเภอคลองหาด 9) ตำบลเบญจขร อำเภอคลองหาด 10) ตำบลหนองน้ำใส อำเภอวัฒนานคร
นพ.สุภโชค กล่าวอีกว่า 10 พื้นที่เหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ร่วมกันทำความสะอาด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน และรอบบริเวณบ้าน ในชุมชน โดยเฉพาะตามภาชนะ เช่น โอ่ง แจกัน จานรองตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า หากมีแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ เพื่อตัดวงจรชีวิตยุงลาย ลดการแพร่ระบาดของโรค ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอให้มีร่างกายแข็งแรง โดยต้องรณรงค์ต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวด้วยว่า ช่วงนี้หากพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ กลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน เพราะจะทำให้โรครุนแรงขึ้น และหากพบผู้ป่วยต้องรีบรายงานเพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่เข้าไปยังบ้านที่มีผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้เสร็จภายใน 1 วัน และติดตามต่อเนื่องอีก 28 วัน จึงจะสามารถควบคุมโรคได้ผล.