มันจะฟินๆ หน่อย ทุเรียนพันธ์ุโบราณ ชื่อไม่คุ้นหู กำปั่นทอง เม็ดในยายปราง เสิร์ฟกันในสวนที่ขลุง จันทบุรี โดยเกษตรกรหนุ่มศิษย์เก่าแม่โจ้อนุรักษ์ต้นที่พ่อปลูกไว้ คอทุเรียนห้ามพลาด

วันที่ 21 เม.ย.61 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สวนนำสุข พื้นที่ ม.3 ต.ซึ่ง อ.ขลุง จ.จันทบุรี หรือสวนทุเรียนโบราณของ นายมานพ อมรอรช อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 ถ.เทศบาลสาย 7 ต.ขลุง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่สืบทอดสวนทุเรียนโบราณมาจากรุ่นพ่อ-แม่ และได้สืบสานเจตนารมณ์ของบิดาที่ได้ปลูกทุเรียนโบราณไว้หลากหลายชนิด จึงไม่ตัดโค่นทิ้ง แต่ทำหน้าที่เก็บรักษาสายพันธุ์ทุเรียนโบราณเหล่านี้ไว้ เพื่อหวังให้มรดกของบิดาได้สืบต่อถึงรุ่นลูกหลานต่อไป โดยได้ใช้หลักธรรมชาติแบบพึ่งพิงอาศัยอยู่รวมกันบนเนื้อที่ 30 ไร่ ที่มีผลไม้หลากหลายชนิด รวมไปถึงทุเรียนพันธุ์ตลาด เช่น หมอนทอง, พวงมณี, ชะนี, ก้านยาว ครบทุกสายพันธุ์ และทุเรียนพันธุ์โบราณอีก 7 สายพันธุ์ จำนวน 17 ต้น ได้แก่ กำปั่นทอง, ชมพูสี, เม็ดในยายปราง, ก้านยาววัดสัก, ทองหยิบ, อีลิบ, อีกบ ซึ่งแต่ละต้นอายุมีมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ที่กระจายปลูกอยู่ภายในสวน 

...

นายมานพ เปิดเผยว่า เวลา 5 ปีย้อนหลังไป ราคาทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือทุเรียนพื้นบ้านกระแสเริ่มกลับมาดี และทำให้ราคาดีมาก จะมีกลุ่มผู้ที่นิยมกินทุเรียนโบราณซึ่งเบื่อทุเรียนตลาด ได้สืบเสาะหาจนทราบว่าที่สวนมีของโบราณจึงเดินทางมาถึงที่สวน โดยทุเรียนโบราณที่สวนราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท แต่มีบางสายพันธุ์ เช่น กำปั่นทอง ที่ราคาปีนี้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งทุเรียนกำปั่นทองมีรสชาติเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบความหวานน้อย มัน เนื้อเยอะ กลิ่นไม่ฉุน บางลูกมีขนาดใหญ่มากกว่า 4 กิโลกรัม ส่วนพันธุ์อื่นๆ เรียกได้ว่ามีลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์แล้วแต่ผู้ที่จะชื่นชอบรสชาติแบบไหน แต่ไม่ใช่เปิดขายเรื่องทำกำไรกันอย่างเดียว เรียกได้ว่าลิ้มชิมลองฟรีดูก่อน ติดใจพันธุ์ไหนค่อยซื้อไปกิน 

ส่วนผลผลิตทุเรียนโบราณในปีนี้ ผลผลิตมีเพียงไม่ถึง 1,000 กก.  หรือ 1 ตันเท่านั้น หายไปจากปีที่แล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นผลกระทบมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และคาดว่าจะหมดในช่วงคาบเกี่ยวปลายเดือน พ.ค. เข้าต้นเดือน มิ.ย. โดยตอนนี้มีคอทุเรียนจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมไปถึงกลุ่มนักชิมทุเรียน จองเข้ามาล่วงหน้าแล้วส่วนหนึ่ง จึงอาจไม่เพียงพอ

“ใคอยากกิน ต้องเดินทางมาที่สวนเอง ไม่มีการส่งให้ปลายทางด้วยการขนส่งทุกประเภทตัดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา และถือเป็นการดึงคนจากต่างจังหวัดเข้ามาเที่ยวบ้านเกิดของตนเองอีกด้วย ซึ่งช่องทางการติดต่อมีทั้งหมายเลขโทรศัพท์ 06-2292-9465 หรือที่เฟซบุ๊ก Art Amornaracha”

นายมานพ ศิษย์เก่าแม่โจ้ยังบอกทิ้งท้ายว่า ผลกำไรจากทุเรียนโบราณไม่ได้มุ่งหวังเท่ากับการเผยแพร่ให้คนได้รู้จักทุเรียนโบราณที่อาจจะหายไปจากบ้านเรา แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันชาวสวนใน จันทบุรีหลายรายเริ่มสนใจหาทุเรียนพันธ์ุโบราณพื้นบ้านมาปลูกแซมในสวนของตนเอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ที่นับวันจะหายสาบสูญไป เนื่องจากกระแสนิยมทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าทุเรียนในตำนานคือ ทุเรียนหมอนทอง ที่ไม่มีอะไรจะสู้ได้ในความต้องการในท้องตลาด.

...