ฮับผลไม้ตะวันออกอ่วม เจออากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิต มังคุด ลองกอง เงาะ ทุเรียน เสียหายรวมกว่า 1.4 แสนตัน คนซื้อทำใจราคาแพงกว่าปีที่แล้ว
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยผลสำรวจปริมาณการผลิตไม้ผล ปี 2561 จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดว่า ผลผลิตโดยรวมลดลง เพราะสภาพอากาศแปรปรวน และทำให้ราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้เนื้อที่ยืนต้นผลไม้ทั้ง 4 ชนิด รวม 678,203 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 677,061 ไร่ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 1,142 ไร่ หรือร้อยละ 0.17 โดยทุเรียนชนิดเดียวที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ในขณะที่มังคุดลดลงร้อยละ 0.30 เงาะลดลงร้อยละ 1.63 และลองกอง ลดลงร้อยละ 8.97 เพราะตัดโค่นต้นทั้ง 3 ชนิด เพื่อสางต้นออก และปลูกทุเรียนทดแทน
ส่วนเนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 615,172 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 605,481 ไร่ เพิ่มขึ้น 9,691 ไร่ หรือร้อยละ 1.60 โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 มังคุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.49 ส่วนเงาะลดลงร้อยละ 0.94 และลองกองลดลงร้อยละ 6.89
อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อที่การปลูกเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตทั้ง 4 ชนิดลดลง โดยมีประมาณ 647,522 ตัน ลดลงจากปี 2560 ที่มีจำนวน 792,113 ตัน คิดเป็นลดลง 144,591 ตัน หรือร้อยละ 18.25 ซึ่งมังคุด ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 64.81 รองลงมาคือ ลองกอง ลดลงร้อยละ 32.05 เงาะ ลดลงร้อยละ 9.81 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 4.37 เพราะสภาพอากาศแปรปรวน
“ที่ผ่านมาอากาศหนาว ร้อน และฝนตกสลับกัน และมีลมแรง มีพายุฝน ต้นไม้ปรับสภาพไม่ทัน ทำให้ไม่ติดดอกออกผล และออกใบอ่อนแทน” นายวิณะโรจน์กล่าวและว่าเมื่อผลผลิตลดลง ก็จะทำให้ราคาขายสูงขึ้น
...
ในส่วนสาเหตุที่มังคุดลดลงมาก เพราะปีที่ผ่านมาติดผลมาก และติดผลล่าช้า จึงพักสะสมอาหาร และคาดการณ์ปีนี้จะออกดอกล่าช้า บวกกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ออกใบอ่อนแทนการออกดอก ส่วนทุเรียนประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปธอราที่ระบาดในปี 2560 ทำให้ทุเรียนเป็นโรครากโคนเน่ายืนต้นตาย ขยายเป็นพื้นที่กว้างทั้งจังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่ในจังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบมากทำให้จำนวนต้นต่อไร่ที่ให้ผลผลิตลดลง