กลาโหมไทย สหรัฐ ญี่ปุ่น ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร รหัส CV-17 รับมือต่อภัยคุกคามสากลรูปแบบใหม่ อาทิ การก่อการร้ายในแบบต่างๆ โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.60 พลอากาศเอก ศิวเกียรติ ชเยมะ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานการสาธิต และทดลองเทคโนโลยีทางทหาร ร่วมกับฝ่ายสหรัฐ ภายใต้รหัส Crimson Viper 2017 หรือ CV-17 ประจำปี 2560 ในระหว่างวันที่ 31 ก.ค.- 4 ส.ค.60 ณ โรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พลเรือโท ช่อฉัตร กระเทศ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ นาวาเอก วิรัตน์ สมจิตร ผู้บังคับการ โรงเรียนชุมพลทหารเรือ ในฐานะเจ้าภาพหลัก ร่วมให้การต้อนรับ

พลตรี สมเกียรติ สัมพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ดำเนินงานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหาร ระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา และกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น รวมทั้งมิตรประเทศ มีการดำเนินการ 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับที่ 2 สาธิตและทดลองเทคโนโลยีทางทหารร่วมกัน ระดับที่ 3 จัดทำโครงการวิจัยร่วมกัน

...

สำหรับ การจัดแสดงฝ่ายไทย ได้แก่ หุ่นยนต์เก็บกู้ และค้นหาระเบิดแสวงเครื่อง และจรวดดัดแปลงสภาพอากาศ ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ,โปรแกรมการแปลสำนวนภาษาไทยเป็นภาษามลายูถิ่น เครื่องมือเฝ้าตรวจพื้นที่ระยะไกล รองเท้าลดอันตรายจากกับระเบิด และผลงานวิจัยด้านหลักการเกี่ยวกับกำลังสำรอง เพื่อภารกิจด้านความมั่นคง ของกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ,ยาป้องกันอาการคันในร่มผ้า และยากันยุง ของโรงงานเภสัชกรรมทหาร

นอกจากนี้ ฝ่ายกองทัพบก ได้จัดแสดงระเบิดขว้างแสง-เสียง พลุกับดัก และเครื่องฉีดไฟระบบอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่ายกองทัพอากาศ ได้จัดแสดงอากาศยานไร้คนขับ Tiger Shark ll และน้ำยาตรวจสารระเบิด และฝ่ายกองทัพเรือ จัดแสดงผลงานวิจัยฯ เข้าร่วม 11 รายการ อาทิ เครื่องบินทะเล อากาศยานไร้นักบินปีกนิ่งขึ้นลงทางดิ่งแบบฟูลเวค อากาศยานไร้นักบินขึ้นลงทางดิ่งแบบนารายณ์ เรือไร้คนขับ ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบเคลื่อนที่ ระบบจำลองการเดินเรือ เป็นต้น

ส่วนฝ่ายสหรัฐ โดยศูนย์ทดลองเทคโนโลยีทางทหาร กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก รัฐฮาวาย นำเทคโนโลยีที่สำคัญจัดแสดง อาทิ เครื่องมือตรวจค้นหาสารระเบิด เข็มทิศอัจฉริยะ ระบบกรองน้ำสนาม เครื่องกรองน้ำขนาดพกพา และเครื่องผลิตคลอรีนสำหรับระบบกรองน้ำ แบบพกา

ด้าน ฝ่ายญี่ปุ่น โดยหน่วยงานจัดหาเทคโนโลยีและส่งกำลังบำรุง ATLA กรุงโตเกียว และภาคเอกชน ได้จัดแสดงผลงานวิจัย 2 ชิ้น คือ อากาศยานไร้นักบินชนิดปีกติดลำตัว แบบ 2 บินขึ้นลงรันเวย์และใช้ร่ม และระบบต่อต้านอากาศยานไร้นักบิน ซึ่งมีความสามารถควบคุมอากาศยานไร้นักบินให้ลงจอดได้

พลอากาศเอก ศิวเกียรติ ชเยมะ รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยคุกคามของโลกในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก การต่อสู้เพื่อแย่งยึดพื้นที่ หรือ ขยายอิทธิพลของลัทธิทางการเมืองได้หายไป การคุมคามด้วยกำลังทหารมีไม่มากเหมือนในอดีต ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบใหม่ ได้แก่ การก่อการร้ายในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ กำลังทหารของทุกประเทศจะถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง การวิจัยและพัฒนาทางทหาร จึงเป็นพลังอำนาจที่สำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงกลาโหมของประเทศต่าง ๆ ในการเสริมสร้างอำนาจกำลังทางทหารให้ทวีกำลังได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การร่วมมือพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถรับมือต่อภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กับประเทศ

...