ประธานหอการค้า จ.สมุทรสาคร ชี้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประมง เร่งรัฐบาลรีบช่วยเหลือ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ค. นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อันดับหนึ่ง ของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นอย่างมาก
โดยบริษัทฯ ที่มีการประกอบการรายใหญ่ มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาข้อกฎหมายเป็นอย่างดี ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของการใช้แรงงานต่างด้าว เพราะมีการดำเนินการไว้เรียบร้อยดีแล้ว แต่ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ ผู้ประกอบการขนาดกลางบางแห่ง ที่มีการดำเนินการเองในเรื่องของการขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าว นั้น ก็อาจจะมีข้อบกพร่องในเรื่องของเอกสารที่ไม่ครบถ้วน หรือ ไม่ชัดเจน ซึ่งก็จะทำให้เกิดข้อผิดพลาด และนำไปสู่การใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายได้ โดยปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการบางราย และแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่กลัวว่า การจ้างงาน หรือการทำงานนั้น จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจจะถูกปรับตาม พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่ฯ ที่มีค่าปรับสูงมาก จึงได้มีการเลิกจ้าง พร้อมกับปิดกิจการลง เพื่อป้องกันการขาดทุน และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนแรงงานก็ต้องเดินทางกลับประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศไทย ทั้งนี้ หากรัฐฯ ไม่เร่งแก้ไขอาจจะทำให้เศรษฐกิจทางด้านต่อเนื่องประมง หรืออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลนั้น เสียหายอย่างมหาศาลได้
...
นางอำไพ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร และในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลนั้น ก็อยากจะขอให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และดูแลผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดกลาง ลงมาจนถึงขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันก็ประสบกับภาวะขาดทุน หรือบางคนก็อยู่แบบทรงตัวไปวันๆ นั้น ได้เรียนรู้ และเข้าในเรื่องของกฎหมายแรงงานต่างด้าว เพื่อที่จะได้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และดำเนินการขอใช้แรงงานต่างด้าว โดยไม่ผิดกฎหมาย และในโอกาสนี้ ก็ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลที่ได้เห็นความสำคัญของทุกภาคส่วน ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว โดยได้มีการผ่อนผันให้ 120 วัน เพื่อนำแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ถือว่า ช่วยคลี่คลายความตึงเครียดของผู้ประกอบการทุกภาคส่วนลงได้เป็นอย่างมาก
ส่วนทางด้าน นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการประชุมหารือกันแล้ว ว่า จะไม่มีการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ นั้น ทางภาคประมง หรือชาวประมง นับเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด เนื่องจากไม่มีแรงงานต่างด้าวทำงานในเรือ เพราะจากมาตรการกฎเหล็ก ทั้งจาก พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ ประกอบกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เป็นต้นมา นั้น ก็ส่งผลทำให้ลูกเรือประมง ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ขึ้นจากเรือแล้วเดินทางกลับประเทศไปบ้างแล้ว โดยสภาพในเรือประมงพาณิชย์ (ตั้งแต่ขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป) ทุกวันนี้ บางลำต้องจอด เพราะไม่มีลูกเรือประมง บางลำก็จ้างไม่ไหว ยกลูกเรือให้กับเรือลำอื่น และบางลำเมื่อไม่มีแรงงาน ก็ต้องนำลูกเรือประมงไปรวมกับเรือประมงลำอื่น เพื่อช่วยกันทำประมง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนต่างด้าวรอบใหม่ และไม่มีแนวทาง หรือวิธีการที่จะนำแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาทำงานในเรือประมง ก็เชื่อได้ว่า อีกไม่นานเรือประมงทุกลำ จะต้องจอดสนิทอย่างแน่นอน เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ก็จะมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ถือบัตรสีชมพูจะหมดอายุลง แล้วก็จะต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง เพื่อเข้ามาใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็จะทำให้แรงงานในเรือประมงหายไปอีก
นายกำจร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ ก็อยากจะให้รัฐบาลไทย เร่งเจรจาหารือเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลเมียนมา หรือ ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพื่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำมาทำงานในเรือประมงได้ ซึ่งขณะนี้ก็ทราบมาว่า ทางรัฐบาลกำลังมีการประชุมหารือกัน ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของชาวประมง ที่จะรอฟังคำตอบว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรต่อไป.