หลังเกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ จ.อ่างทอง ทำน้ำในคลองรำมะสัก เน่าเสียยาวกว่า 12 กม. ปลาหลากชนิด ตายเป็นเบือ พบค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก ขณะที่ชาวบ้านช่วยกันช้อนปลา ที่หายใจเหนือผิวน้ำ ขึ้นมาใส่ถัง เพิ่มออกซิเจนให้ ก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ ...

วันที่ 1 มิ.ย. หลังฝนตกลงในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง นานนับสัปดาห์ ส่งผลให้บึงน้ำในคลองรำมะสัก ตั้งแต่บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ จังหวัดอ่างทอง เกิดการเน่าเสียเป็นระยะทางยาวกว่า 12 กิโลเมตร ตลอดลำคลอง ส่งผลให้ปลานานาชนิด ที่อาศัยอยู่ในคลองตายลงเป็นจำนวนมาก

โดยที่บริเวณหน้าวัดโพธิ์เอน ที่เป็นวังปลา ต้องประสบปัญหาปลาหน้าวัดขาดออกซิเจน ลอยขึ้นมาตายเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ยังมีชีวิต ชาวบ้านได้ใช้สวิงตักขึ้นมาลงในถังขนาดใหญ่ พร้อมปล่อยออกซิเจนเข้าช่วยปรับสภาพให้ฟื้น ก่อนปล่อยคืนแหล่งน้ำที่หน้าวัดโพธิ์เอน เบื้องต้นชลประทานปล่อยน้ำลงคลองเพื่อช่วยระบายไล่น้ำเสียออกไป

ด้าน นายลิขิต ทองนาท นายอำเภอโพธิ์ทอง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานน้ำเน่าเสียจาก นายประสิทธิ์ ปกป้อง นายกเทศมนตรีตำบลรำมะสัก ทางนายกเทศบาลรำมะสัก จึงได้เดินทางมาตรวจสอบพร้อมด้วย นายบันเทิง โชติช่วง ประมงจังหวัดอ่างทอง เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำและสาเหตุการเน่าเสีย พร้อมทั้งเร่งดำเนินการช่วยเหลือแก้ไข และได้ประสานไปยังชลประทานในการส่งน้ำลงมาตามลำคลองรำมะสัก อย่างเร่งด่วนแล้ว และหากว่าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม น้ำดีที่ทางชลประทานปล่อยลงมาคงไล่น้ำเสียออกไปและกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

...

นายวีร์ กี่จนา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ได้กล่าวว่า เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ประมงได้ตรวจค่าออกซิเจนภายในคลองพบว่ามีอยู่ต่ำมาก เป็นสาเหตุให้ปลาตายจำนวนมาก ส่วนสาเหตุ คาดว่ามาจากฝนที่ตกลงมาแล้วชำระล้างสารเคมีที่ตกค้างอยู่ตามผิวดิน ประกอบกับน้ำที่เพิ่มขึ้นท่วมวัชพืช ทำให้ต้นหญ้าเน่าเสีย ประกอบกับการสูบน้ำที่เน่าเสียออกจากที่ท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรลงสู่ที่คลองรำมะสัก จึงทำให้เกิดการเน่าเสียขยายวงกว้าง

ด้าน นายประสิทธิ์ ปกป้อง นายกเทศมนตรีตำบลรำมะสัก กล่าวว่า เบื้องต้นชาวบ้านได้ช่วยกันจับปลาที่กำลังจะตายลอยหัวขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยใช้สวิงตักขึ้นมาใส่ถังขนาดใหญ่ ส่วนในคลองบริเวณคลองหน้าวัด ได้นำเครื่องปั่นน้ำ เพิ่มออกซิเจนลงในถังน้ำ และนำเครื่องสูบน้ำมา ทำให้น้ำได้มีออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ปลาที่กำลังขาดออกซิเจนได้มีออกซิเจนไปหายใจ ส่วนปลาที่ตายแล้ว เบื้องต้นได้นำตรวจสอบหาสารเคมี และที่เน่าก็ทำการขุดหลุมฝังหรือเผา ส่วนที่ตายใหม่ๆ ก็ได้ตักมาเก็บแล้วเพื่อชาวบ้านอยากได้ก็ให้ไปทำอาหารรับประทาน.