ศาลเจ้าพ่อปากคลอง “เจ้าพ่อเตียเทียงซือกง” เทพแห่งการแสดง พลังศรัทธา ความเชื่อ ของคนไทยเชื้อสายจีน จ.นครสวรรค์ และใกล้เคียง สืบทอดรุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


เมื่อกว่า 100 ปีผ่านมา มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งจากแถบตำบลเตียวเพ้ง เตียวอ้น ซัวเถา และยูนนาน ประเทศจีน ได้อพยพมาทางเรือโดยมี นายอี้ แซ่อี้, นายกุ้ยห่อ แซ่เตีย เดินทางมาพร้อมกับชาวจีนหลายสิบคน และได้นำกระถางธูปเจ้าพ่อเตียเทียงซือกงติดตัวมาด้วย 


ถือว่าเป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่มาตั้งหลักปักฐานที่บริเวณ บ้านบางมะฝ่อ ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ลุ่มมีน้ำใช้ตลอดปี นับว่าเหมาะแก่การเพาะปลูกทำการเกษตร อีกทั้งยังมีท่าน้ำสำหรับเรือต่างๆ เทียบท่าได้ สามารถขนส่งสินค้าไปค้าขายทางเรือได้สะดวก ทำให้มีชาวจีนชักชวนกันมาให้ตั้งหลักปักฐานที่นี่เพิ่มมากขึ้น


ต่อมาช่วงฤดูแล้งปีหนึ่งได้เกิดโรคระบาดท้องร่วงเกิดขึ้น กลุ่มคนจีนตระกูลแซ่เตียจึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะจัดตั้งศาลเจ้าขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คนจีนที่อพยพเข้ามาสร้างถิ่นฐานที่นี่ โดนตอนที่อพยพมาจากประเทศจีน ขึ้นเรือสำเภามา คนตระกูลแซ่เตียได้นำผงธูปกระถางธูปของ “เจ้าพ่อเตียเทียงซือกง” จากบ้านเกิดประเทศจีน ใส่ถุงผ้าติดตัวมาด้วย เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร จึงจุดธูปให้เจ้าพ่อช่วย และในที่สุดก็ช่วยได้ดั่งปาฏิหาริย์ตามที่ขอไว้ หายจากอาการเจ็บป่วยทั้งหมู่บ้าน

...


ผู้ที่ทำมาค้าขายจุดธูปขอให้กิจการค้าขายเจริญรุ่งเรืองและขอให้ขายดี ก็ได้สมดั่งใจ เป็นที่ร่ำลือไปในที่ต่างๆ ชาวจีนที่ค้าขายต่างมุ่งมาไหว้สักการะทุกๆ ปี ผู้คนมาขออะไรก็มักจะได้รับพรจากสิ่งที่ปรารถนา บางคนก็แก้ด้วยการถือศีลกินเจ หรือถวายสิ่งของต่างๆ ที่บุคคลนั้นได้ลั่นวาจาไว้


ต่อมาได้ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าขึ้น ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศาลเจ้าหลังเล็กๆ หลังคามุงด้วยใบหญ้าคา ต่อมาเปลี่ยนเป็นมุงด้วยสังกะสี และก่อด้วยผนังคอนกรีตเสริมเหล็กตามศิลปกรรมจีน ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 6 ล้าน มีอาคารที่พักอาศัยสำหรับผู้มาร่วมงานวันเกิดเจ้าพ่อประจำปีอยู่ข้างๆ


ในอดีตศาลเจ้ายุคแรกๆ มีการทรงเจ้า โดยมีร่างทรงคนจีนคนแรกคือนายเตีย อาซัว และได้สืบทอดการทรงเจ้ามาอีก 5 รุ่น ในปัจจุบันไม่มีการทรงเจ้าแล้ว แต่ก็ยังเปิดศาลเจ้าที่ถือว่าเป็นศาลเก่า ที่ยกย่องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนเทพารักษ์ไทย ให้ผู้ศรัทธาได้เข้ามาไหว้บูชาองค์สมมติของเจ้าพ่อไว้เช่นเดิม และภาพวาดเก่าแก่เจ้าพ่อเตียเทียงซือกง และเทพเจ้าอีกหลายๆ องค์


นายสุรชัย วิสุทธากุล หรือค่าย หรือตังไขท้ง เป็นผู้เชิดมังกรตัวแรก ปี พ.ศ.2507 ปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมการฝึกสอนคณะมังกรทอง จ้าวพ่อ-จ้าวแม่ปากน้ำโพ อายุ 80 ปี ผู้มีความศรัทธามากว่า 60 ปี เป็นพลังศรัทธาความเชื่อผ่านศิลปะการแสดง กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเมื่อคณะสิงโตและคณะมังกรทอง จ้าวพ่อ-จ้าวแม่ปากน้ำโพ จะนำมังกรทองซึ่งทำขึ้นมาใหม่สำหรับแสดงในงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ไปทำพิธีเบิกเนตร คณะ “เอ็งกอ” ก็ต้องมาเชิญกระถางธูปไปให้จุดธูปไหว้ขณะทำการฝึกก่อนการแสดง กับเจ้าพ่อปากคลอง (เตียเทียงซือกง) รวมทั้งกราบไหว้ จ้าวพ่อสามตา (ฮั่วกวงไต่ตี่) เจ้าพ่อเทพารักษ์ จ้าวแม่ทับทิม แควใหญ่ 


สำหรับงานวันคล้ายวันเกิดเจ้าพ่อปากคลอง เตียเทียงซือกง ปีนี้เริ่ม วันที่ 3 สิงหาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม โดยวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ตรงกับวันคล้ายเทวสมภพ วันเกิดเจ้าพ่อปากคลอง มีการทำพิธีต่างๆตั้งเช้า พอช่วงหัวค่ำมีงิ้วแต้จิ๋ว ภาพยนตร์ การแสดงคณะมังกรทอง จ้าวพ่อ-จ้าวแม่ปากน้ำโพล่อโก้ว สมาคมส่งเสริมฯ ปากน้ำโพเอ็งกอ เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ และสิงโตอีกหลายคณะ บริเวณหน้าศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเชื่อเรื่องเทพแห่งการแสดง ความเชื่อด้านสุขภาพ โชคลาภเงินทอง ครอบครัว ความปลอดภัย และความสำเร็จ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่มีการเรี่ยไรเงิน หรือค่าใช้จ่ายการแสดงใดๆ ของทุกคณะ เพราะมาด้วยความศรัทธา ส่วนใครจะทำบุญมากน้อยก็ได้กับศาลเจ้าฯ

...


“ความเชื่อเหล่านี้ยังคงมีปรากฏการณ์แปลกๆ ให้เห็นอยู่ในปัจจุบันและการมีความศรัทธาต่อเทพเจ้า ทำให้เกิดความสบายใจ ความมุ่งมั่น และกำลังใจ”.