นักขุดทองบางสะพานเผยวิธีขุดหาทอง แบบเจาะบ่อแล้วแยกเป็น 3 ขา เป็นวิธีโบราณสืบทอดกันมาเป็นร้อยๆ ปี นำดินก้นบ่อขึ้นมาร่อนแยกทอง ส่วนอุบัติเหตุดินถล่มทับเสียชีวิต เป็นการขุดบ่อเก่าที่เลิกขุดแล้ว และมีการเชื่อมโยงกันถึง 3 บ่อ ซึ่งปกตินักขุดทองจะไม่ทำแบบนี้ 


เวลา 10.30 น. วันที่ 19 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านวังน้ำเขียว ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่เกิดเหตุดินถล่มทับนักขุดทองเสียชีวิตเมื่อช่วงค่ำวานนี้ พร้อมด้วยนายนิกร โพธิ์น้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่อนทอง ซึ่งวันนี้มีการปรับสภาพพื้นที่ให้กลับมาเป็นพื้นที่ปกติ ไม่หลงเหลือร่องรอยของบ่อแล้ว หลังจากที่มีการค้นหาเสร็จสิ้นเมื่อคืน รถแบ็กโฮได้ปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ราบดังเดิม 


นายนิกร โพธิ์น้อย นายก อบต.ร่อนทอง เปิดเผยว่า เหตุดินถล่มในบ่อขุดทอง เคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งการขุดทองในลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีโบราณ สืบต่อกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว บ่อที่เกิดเหตุเป็นบ่อที่มีการขุดลึกกว่าปกติ และไม่ใช่ดินเหนียว แต่เป็นดินร่วนซุย ซึ่งลักษณะที่เกิดขึ้นเรียกว่า “ทรายเลื่อน” การขุดหาทองแบบนี้ไม่สามารถห้ามปรามชาวบ้านได้ เพราะใช้แรงงานขุด ไม่มีการใช้เครื่องจักร เเต่จะใช้วิธีการเรียกประชุมชาวบ้าน และทำการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น 

...


น.ส.พัชรินทร์ สุขสุรัตน์ อายุ 35 ปี เพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกจุดเกิดเหตุ ได้เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวถูกขุดเพื่อลงไปหาทอง 3 บ่อในบริเวณเดียวกัน ซึ่งบ่อที่เกิดเหตุ เลิกขุดไปนานแล้ว และได้ไปขุดบ่อใหม่ จนกระทั่งช่วงเย็น ประมาณช่วงเวลา 5 โมง ไม่ทราบว่านายเบื๊อก ผู้ตาย คิดยังไงจึงลงไปดู และนำดินขึ้นมาได้ 6 กระสอบแล้ว เหลือกระสอบสุดท้าย จู่ๆ ก็เกิดเหตุดินถล่ม โดยมีคนลงไปในบ่อ 2 คน พยายามจะคุ้ยดินเพื่อช่วยนายเบื๊อก แต่ยิ่งคุ้ยยิ่งพัง จนคนข้างบนต้องรีบช่วย 2 คนขึ้นมาก่อน

 

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสวนยางของนายปรีชา สงวนไว้ อายุ 61 ปี ซึ่งเป็นนักขุดทองรุ่นใหญ่ อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 500 เมตร เพื่อดูลักษณะของบ่อขุดทองที่อยู่ในสวนยาง พร้อมสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายปรีชา เปิดเผยว่า เวลาว่างจากการกรีดยาง ตนก็มักจะหารายได้เสริมจากการขุดทอง ซึ่งในสวนยางของตนมีอยู่ประมาณ 7-8 บ่อ ปกติการทำงานแต่ละครั้งจะใช้คนประมาณ 2-3 คน โดยจะมีคนลงไปขุด 1-2 คน และคนคอยกว้านดินขึ้นมา 1 คน แต่เคสเมื่อวาน ทราบว่าลงไป 3 คน แต่ขึ้นมาได้ 2 คน และบ่อดังกล่าวขุดลึกมากกว่าปกติที่จะขุดกันประมาณ 4-5 เมตร แต่บ่อที่เกิดเหตุเมื่อวานขุดลึกลงไปประมาณ 10 เมตร และมีการเชื่อมบ่อกัน ซึ่งปกติเขาจะไม่เชื่อมถึงกัน เพื่อป้องกันดินถล่ม ส่วนทองที่ได้ขึ้นมาจะมากน้อยก็แล้วแต่สภาพพื้นที่  


สำหรับวิธีการขุดหลุมหาทองแบบนี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการหาทองบางสะพาน ที่ทำสืบทอดกันมานาน ลักษณะเป็นการขุดหลุมขนาดความกว้าง 1.00-1.20 เมตร ปากหลุมจะมีกว้านพาดปากบ่อ ลักษณะคล้ายรอกที่จะคอยดึงถังดินที่ขุดจากบ่อขึ้นมาใส่กระสอบไว้ เพื่อนำดินเหล่านั้นไปร่อนหาทอง โดยการขุดหลุมดังกล่าวจะทำการขุดลึกลงไปในแนวดิ่ง ให้ได้ความลึกประมาณ 10-15 เมตร จากนั้นจะแยกออกเป็น 3 ขาในแนวทแยงประมาณ 45 องศา 3 ทิศทาง เพื่อนำดินที่ขุดในบ่อนำขึ้นมาร่อนหาทอง ซึ่งทองบางสะพานถือเป็นทองเนื้อเก้า ทองคำบริสุทธิ์ 99.99%