หลายภาคส่วนร่วมหาทางออกกรณีโครงการประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งบประมาณ 48 ล้านบาท ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ถูกปล่อยร้างสร้างเสร็จไม่มีการใช้งาน ทั้งกปร. ชลประทาน ป.ป.ช. ล่าสุดรองผวจ.ลงพื้นที่ เริ่มขุดลอกอ่างเคลียร์ร่องน้ำเพิ่มความจุน้ำ พร้อมจัดสรรงบฯจังหวัดประมาณ 10 ล้านให้ อบต.ดำเนินการต่อ  

จากกรณีที่ นายรุ่งโรจน์ รัตนแก้ว อายุ 40 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการร้องปัญหาผ่านสื่อฯเกี่ยวกับโครงการระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2563-2564 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการเปิดใช้งานให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เลย ถูกปล่อยให้เป็นอาคารรกร้าง ดังที่เสนอไปแล้วนั้น

สำหรับงบประมาณโครงการฯดังกล่าว จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในเอกสารรายงานสถานะการใช้งบประมาณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2561 โดยมีการยื่นขอรับการสนับสนุนและอนุมัติสำหรับโครงการฯดังกล่าว ในวงเงินทั้งสิ้น 48,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินงบประมาณจาก กปร. อนุมัติให้ทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกบรรจุอยู่ในเอกสารการอนุมัติงบประมาณครั้งที่ 3/2561 ลำดับที่ 20 ที่มีการเสนอไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 และได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561

...

และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายรุ่งโรจน์ รัตนแก้ว ได้เดินทางไปยื่นเอกสารหลักฐานร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบโครงการฯ ต่อมาเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นทางสำนักชลประทานที่ 14, โครงการชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และผู้แทนจากสำนักงาน กปร. พร้อมคณะได้ลงพื้นที่บริเวณอ่างโป่งสามสิบร่วมกับทาง อบต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นร่วมกับท้องถิ่นเพื่อให้โครงการฯสามารถเปิดจ่ายน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยเร็วที่สุด

วันที่ 7 มิ.ย. 2566 ทางสำนักชลประทานที่ 14 ได้ประสานไปยัง ส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 7 สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เพื่อให้มีการจัดส่งรถแบ็กโฮบูมยาว จำนวน 3 ตัน และแบ็กโฮบูมสั้น จำนวน 1 คัน เข้าพื้นที่อ่างทันทีเพื่อดำเนินการขุดลอกอ่างในเบื้องต้น พร้อมทั้งเคลียร์ร่องน้ำที่จะไหลเข้าสู่อาคารโครงการรับน้ำของทางโครงการฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในเบื้องต้น บรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

วันที่ 9 มิ.ย. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล เพื่อร่วมประชุมรับทราบข้อเท็จจริงกรณีโครงการฯดังกล่าว ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ผู้แทนจากโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ และผู้นำชุมชนในพื้นที่

ล่าสุดวันที่ 16 มิ.ย. 2566 คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อดูสภาพปัญหาและการขุดลอกอ่างเก็บน้ำที่กำลังดำเนินการอยู่โดยส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 7 สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน โดยในเบื้องต้นพบปัญหาของการตั้งงบประมาณที่จะมาดำเนินการขุดลอกอ่างฯ ทางจังหวัดจะเร่งพิจารณาจัดสรรงบประมาณลงมาให้กับทาง อบต. ประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อดำเนินการขุดลอกต่อ ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้า

นายจำลอง แก้วไทรนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะที่รับมอบโครงการฯดังกล่าวมาบริหารต่อจากชลประทานฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่สื่อได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปนั้นภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากทางกรมชลประทาน หรือ ท้องถิ่นไม่ได้นิ่งนอนใจ มีความพยายามที่จะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเพื่อให้ทางโครงการฯ ได้เปิดใช้งานให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็วที่สุด ซึ่งขั้นต้นทางกรมชลฯ ไเด้ประสานเครื่องจักรหนักเข้าพื้นที่แล้วตั้งแต่ช่วงประมาณวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อดำเนินการขุดลอกอ่างในเบื้องต้น พร้อมทั้งเคลียร์ร่องน้ำที่จะไหลเข้าสู่อาคารโครงการฯเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำบรรเทาความเดือดร้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ แต่ในระยะยาวคงต้องมีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่สามารถดำเนินการขุดลอกอ่างฯให้กลับมามีความจุในปริมาตรที่ใกล้เคียงกับความจุเดิมเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งหลังจากการลงพื้นที่ของทางคณะรองผู้ว่าฯประจวบ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ได้รับทราบข้อติดชัดในการตั้งงบประมาณที่จะใช้ในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำอย่างจริงจัง เนื่องจากอ่างโป่งสามสิบปัจจุบันทางกรมชลฯได้ถ่ายโอนภารกิจมาให้กับทาง อบต.ดูแลแล้ว จึงทำให้ทางกรมชลฯไม่สามารถตั้งงบประมาณจากทางกรมฯ ได้และหากจะพิจารณาใช้งบจากทาง อบต. ท่องถิ่นก็เกินกว่าศักยภาพของทาง อบต.ในการดำเนินการ ทางท่านรอง ผวจ. จึงรับเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับคณะผู้บริหารของจังหวัดและคาดว่าจะมีการตั้งงบฯ จากทางจังหวัดมาช่วยเหลือในการขุดลอกเบื้องต้นให้กับทาง อบต.ประมาณสิบล้านบาทเพื่อขุดลอกอ่างฯต่อไป 

...

หลังจากนี้ทาง อบต.จะมีการจัดหาผู้ต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมและจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาเพื่อให้เข้ามาร่วมดูแลบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และกำหนดราคาค่าน้ำที่จะมีการเรียกเก็บเพื่อความเป็นธรรม รวมถึงจะดำเนินการติดมิเตอร์น้ำให้กับผู้ที่ต้องการจะใช้ ซึ่งทาง อบต. จะมีการร่วมวางแผนจัดสรรน้ำในอ่างโป่งสามสิบให้กับระบบจ่ายน้ำทั้ง 3 ระบบ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบน้ำประปาของ อบต., ระบบน้ำดิบเพิ่มการเกษตร(เติม) และระบบประปาโครงการฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามปริมาณน้ำที่จะกักเก็บได้เพิ่มเติมในอ่างฯ จากการขุดลอกเบื้องต้นในครั้งนี้ เพื่อเตรียมรองรับในช่วงหน้าฝนที่จะมาถึงนี้ และจะบริหารจัดการน้ำที่มีให้ประชาชนได้ใช้น้ำร่วมกันจากทุกระบบอย่างเป็นธรรม นายจำลองกล่าว