บทสรุปโครงการระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ อ.บางสะพาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างเสร็จไม่ได้ใช้งาน นอกจากปัญหาทับซ้อนกับระบบส่งน้ำเดิม ค่าใช้จ่ายเรื่องกระแสไฟฟ้า ยังมีชาวบ้านลงชื่อขอใช้เพียง 35 ราย ชลประทานก่อสร้างระบบแล้วส่งมอบให้ท้องถิ่น แต่อบต.ไม่มีศักยภาพพอที่จะดำเนินโครงการ ยังเกิดการทับถมของตะกอนดินและทรายในอ่างฯ จำนวนมาก ทำให้น้ำต้นทุนน้ำไม่พอ

จากกรณีที่นายรุ่งโรจน์ รัตนแก้ว อายุ 40 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการร้องเรียนผ่านสื่อฯเกี่ยวกับโครงการระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2563-2564 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการเปิดใช้งานให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เลย ถูกปล่อยให้รกร้างไม่เคยเดินเครื่องใช้งาน

เรื่องนี้ จากการได้สอบถามไปทาง นายจำลอง แก้วไทรนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ในฐานะที่รับมอบโครงการดังกล่าวมาบริหารต่อจากชลประทานฯ ซึ่งนายจำลอง เปิดเผยว่า โครงการนี้ ได้มีการขอไปเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2553 ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง นายกฯ ต่อมาภายหลัง ประมาณปี พ.ศ. 2560 ได้รับการประสานจากทางชลประทานว่าโครงการได้ร้บอนุมัติแล้ว ทาง อบต. ยังคงมีความประสงค์ที่จะขอรับโครงการฯ หรือไม่ ตนจึงได้นำเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ลงมติให้ความเห็น ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับโครงการฯ จึงแจ้งกลับไปยังชลประทานฯ ว่าทางพื้นที่ยังคงมีความประสงค์ขอรับโครงการฯ ดังกล่าว

...

“หลังสร้างเสร็จทาง อบต. ได้รับการถ่ายโอนโครงการดังกล่าวมาจากกรมชลประทาน และได้มีการสำรวจผู้ที่ต้องการจะใช้น้ำในโครงการปรากฏว่ามีผู้มาลงชื่อไว้เพียง 35 รายเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ลงชื่อเป็นชาวบ้านที่อยู่ตามแนวถนนเพชรเกษม ซึ่งท่อส่งน้ำจากทางโครงการก็ไปไม่ถึง ทาง อบต.จึงต้องขยายเดินท่อเพิ่มจากของทางโครงการต่อไปอีก 1.8 กิโลเมตร เพื่อไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำ นอกจากนี้ได้ให้นายช่าง อบต.คำนวณต้นทุนค่ากระแสไฟว่าหากมีผู้ใช้น้ำเพียง 35 ราย ผู้ใช้น้ำจะแบกรับค่ากระแสไฟไหวหรือไม่ หากมีการใช้งานจริงค่ากระแสไฟฟ้าจะตกอยู่ที่เดือนละหลักหมื่นบาทแน่นอน และในส่วนของชาวบ้านที่ใช้น้ำดิบเพื่อการเกษตรระบบเดิมต่างไม่มีใครมีความประสงค์ที่จะขอใช้โครงการฯ ใหม่”

นายจำลอง กล่าวต่อว่า ที่สำคัญสุดที่ทำให้โครงการฯ ไม่สามารถเดินเครื่องให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์สาเหตุหลักมาจากสภาพอ่างในปัจจุบัน ที่มีความตื้นเขินทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 1 ใน 4 ของความจุเดิมหรือแค่ประมาณ 200,000 ลบ.ม. ซึ่งเกิดจากเมื่อครั้งอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ อ.บางสะพาน เมื่อปี 2560 และ ปี 2561 เกิดการทับถมของตะกอนดินและทรายจำนวนมากทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่จะมาใช้มีไม่เพียงพอ เพราะต้องจัดสรรนำน้ำไปใช้กับระบบประปาของทาง อบต. และระบบน้ำดิบเพื่อการเกษตรเดิม จึงอยากให้ทางกรมชลประทานช่วยดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำครั้งใหญ่ให้อ่างฯกลับมามีความจุใกล้เคียงความจุเดิมที่ปริมาณ 850,000 ลบ.ม. เพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนที่จะมาใช้ในโครงการได้ นายจำลองกล่าว

ขณะที่ล่าสุดโครงการชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ทำหนังสือ ที่ กษ. 0323.07/450 ถึง นายรุ่งโรจน์ รัตนแก้ว ผู้ร้องเรียนเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า

1. โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งสามสิบ เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ถ่ายโอนภารกิจของกรมชลประทานให้องค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งสามสิบ มีสภาพตื้นเขินเนื่องจากการทับถมของดินเนื่องจากการใช้งานมายาวนานและเกิดอุทกภัยหลายครั้งในพื้นที่ โดยมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 15% ของความจุอ่างเท่านั้น และโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ไม่สามารถขอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการขุดลอกได้ เนื่องจากถ่ายโอนภารกิจแล้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล ไม่สามารถดำเนินการเช่นกันได้เนื่องจากเกินศักยภาพของท้องถิ่นที่จะดำเนินการได้

2. โครงการระบบส่งน้ำบ้านโป่งสามสิบ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และอยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์

...

3. โครงการระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบระยะต้น เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในความดูแลของโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2564 และได้ถ่ายโอนภารกิจระบบไฟฟ้าและค่ากระแสไฟฟ้า ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

ปัจจุบันโครงการระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบระยะต้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล กำลังดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และรอผ่านสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทองมงคล เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้งานระบบท่อส่งน้ำ ปัจจุบันมีผู้ประสงค์ขอใช้น้ำประมาณ 30-35 ราย ซึ่งไม่เพียงพอกับค่ากระแสไฟฟ้า และมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 15% ของความจุอ่างเท่านั้น ไม่สามารถสูบน้ำเข้าระบบประปาอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำระยะต้นได้