สสจ.ปราจีนบุรี ลงพื้นที่โรงหลอมเหล็ก ตรวจเลือด-ปัสสาวะคนงาน หาสารซีเซียม-137 อีกครั้ง หลังผวจ.แถลงยืนยัน "กัมมันตรังสีไม่แพร่กระจาย" พบคนงาน 70 คน ไม่มีใครได้รับรังสี ด้านชาวบ้านบอกก็กลัวเหมือนกัน เพราะบ้านอยู่ใต้ลม ขณะที่รถบรรทุกเศษเหล็กยังวิ่งเข้า-ออกโรงงานตามปกติ
ช่วงบ่ายของวันที่ 20 มีนาคม 2566 หลังจากนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นางมาละนี จินดารัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี นายกิตต์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี นายสุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวกรณีพบวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่ห้องศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรีแล้วนั้น
ในช่วงบ่าย นายสุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอกบินทร์บุรีนำทีมแพทย์จากโรงพยาบาลกบินทร์บุรีลงพื้นที่โรงงานหลอมเหล็กของ บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เรียกคนงานจำนวน 70 คน ตรวจสอบหารังสีอีกครั้ง รวมทั้งตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะคนงานทั้งหมด โดยการตรวจในเบื้องต้นไม่มีคนงานคนใดได้รับรังสีฯ

...
นางจรูญ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้านหมู่ 10 ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า บ้านอยู่ห่างจากโรงงานหลอมเหล็กประมาณ 200 เมตร รู้สึกหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากสารดังกล่าว เกรงว่าจะสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และบ้านก็ตั้งอยู่ใต้ลม
ส่วน นายวินัย สระวิจิตร ชาวบ้านหมู่ 10 อีกราย กล่าวเช่นกันว่า รู้สึกหวาดกลัวเพราะบ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงงาน กลัวสารจะรั่วไหลออกมา ทราบมาว่าไปถูกละอองสารอาจจะทำให้เป็นแผลพุพองตามร่างกาย ประชาชนยังเฝ้าฟังข่าวจากทางจังหวัดว่าสารนี้มาอยู่ในโรงงานนี้ได้อย่างไร และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม พบว่า โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าวยังเปิดประตูให้รถบรรทุกเหล็กเข้าไปภายในโรงงานโดยไม่มีปิดพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นยังก็ยังคงตรวจสอบสารกัมมันตรังสี โดยใช้เครื่องมือเดินตรวจไปรอบโรงงาน
ทั้งนี้ การแถลงข่าวในวันนี้ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า “วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากที่ติดตั้ง ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ทางจังหวัดปราจีนบุรีตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้นำกำลังคนและอุปกรณ์มาทำการตรวจสอบตามโรงงานที่คาดว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไป โดยมีการทำการตรวจสอบติดตามมาอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท หยงชิง สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด 139 หมู่ที่ 13 ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่ 518/1 หมู่ที่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ที่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ที่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ
ล่าสุด วันที่ 19 มีนาคม ทางจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมด้วยงานปรมาณูเพื่อสันติ ป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย ปกครอง ลงพื้นที่เข้าทำการโรงหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จำนวน 2 โรง และอำเภอศรีมหาโพธิอีก 2 โรง พบว่า ในรอบแรกยังไม่พบมีการปนเปื้อน จึงใช้เครื่องมือดูดอากาศตรวจหารังสีรอบๆ บริเวณโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ตรวจหาสารปนเปื้อน ก็ยังไม่พบซีเซียม-137
ช่วงเย็นมีการมีการตรวจสอบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ด้วยเครื่องมือสามารถตรวจพบการปนเปื้อนในฝุ่นที่ได้จากการผลิตโลหะ คือวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในบิ๊กแบ็ก 24 ถุง รวม 24 ตัน ที่อยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี และมี 1 ถุง มีการนำไปถมที่บริเวณหลังโรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจึงให้ทางโรงหลอมขุดดินใส่บิ๊กแบ็กกลับมาเก็บที่เดิมในโรงงาน ทางจังหวัดได้ประกาศให้กันบริเวณโรงงานเป็นเขตควบคุม
ขณะนี้ขอยืนยันว่า ซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงงาน และทำการตรวจหาการปนเปื้อนในร่างกายของพนักงานทุกคนที่มีจำนวน 70 คน (คนไทย 10/ต่างด้าว 60) ไม่พบมีการปนเปื้อนตามร่างกายของพนักงาน ตามข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติสามารถควบคุมและจำกัดสารซีเซียม-137 อยู่ในเฉพาะพื้นที่ จากการตรวจสอบยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซีเซียม-137 ที่พบในโรงหลอมเหล็กจะเป็นชิ้นเดียวกับที่สูญหายหรือไม่
ด้านเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า กัมมันตรังสีที่ตรวจพบในโรงหลอมเหล็กไม่ได้ฟุ้งกระจายอย่างที่ประชาชนกังวล ส่วนจุดที่พบบิ๊กแบ็กข้างโรงหลอม ซึ่งถูกนำไปถมที่ด้านข้าง เจ้าหน้าที่ให้ขุดบิ๊กแบ็กและดินนำขึ้นมาในพื้นที่ที่กำหนด และตรวจหาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่พบกัมมันตรังสี จึงไม่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ
...
ด้านนายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวานเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่ารังสี พบว่า ตรวจจับได้ จึงได้กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจุดที่พบเป็นจุดหลอมเหล็กเป็นพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงงานโดยรอบรัศมีห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่าที่ปลายปล่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์เป็นตัวดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์ และเย็นลง จะร่วงลงมาด้านล่าง
ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วัสดุกัมมันตรังสี Cesium-137 ที่ติดอยู่ด้านบนไซโลความสูง 18 เมตร ว่า ออกมาจากมาจากจุดที่ติดได้อย่างไร และออกไปนอกโรงไฟฟ้าจนถึงโรงหลอมได้อย่างไร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไปแจ้งความกับ บริษัท เนชั่นแนล พาวเวร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด กับพวก ในความผิดฐาน "ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือเสียหายอันเกิดจาการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต มีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องตันตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น" ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตำรวจกำลังสอบสวนเพิ่มเติม
นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ได้ตรวจสุขภาพ (เลือด) ผู้เกี่ยวข้องในโรงหลอม ไม่พบความผิดปกติ และผลตรวจสอบการตรวจสุขภาพย้อนหลังก็ยังไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย สิ่งหนึ่งที่สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีจะดำเนินการเพิ่ม คือ วางระยะในการตรวจสุขภาพผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงไฟฟ้าและโรงหลอม ในระยะ 6 เดือน และ 1 ปี ในระยะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ.
...