กรมชลประทาน สั่งย้าย "โบว์แดง ทาแก้ว" ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ คาดบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ปัญหาเครื่องสูบน้ำเจ๊ง ทำชาวบ้านเดือดร้อน ส่วนน้ำในเขต "เทศบาลนครรังสิต" หลายหมู่บ้านแห้งแล้ว
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน มีคำสั่ง 485/2565 ลงวันที่ 9 กันยายน 2565 ย้ายนายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 กรมชลประทาน ไปทำหน้าที่หน้าห้องรองอธิบดี กรมชลประทาน (นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล) ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการคาดการณ์น่าจะเกิดมาจากปัญหาเครื่องสูบน้ำที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ที่เสียจนไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อน


...

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เทศบาลนครรังสิต ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจ พบว่า ระดับน้ำภายในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีระดับน้ำอยู่ที่ 1.8 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน เพราะไม่มีฝนตกลงมา โดยบริเวณถนนเลียบคลองรังสิต รวมไปถึงซอยที่ติดริมคลอง ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นจุดๆ แต่รถเล็กสามารถใช้งาน ซึ่งที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์น้ำท่วม เทศบาลนครรังสิต ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพบก และเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพเรือ ได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนด้วยการช่วยกันกรอกกระสอบทราย ไว้ให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องการนำกระสอบทรายไปกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้เข้าท่วมบ้านเรือนของตัวเอง พร้อมกันนี้ บริเวณทางขึ้น ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่มาจากถนนรังสิต-นครนายก ได้มีประชาชนนำรถยนต์มาจอดอยู่บริเวณด้านซ้ายสุดไปจนเกือบถึงบนโทลล์เวย์ เพราะเกรงว่าน้ำจะท่วมทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย



ในส่วนของตลาดรังสิต ยังคงมีน้ำขังรอการระบายอยู่หลายจุด แต่จุดหลักด้านหน้าที่จะใช้เดินทางเข้ามาจับจ่ายซื้อของภายในตลาด ตอนนี้น้ำลดลงไปเยอะมากแล้ว จะมีแค่ถนนหลังตลาดที่ยังคงมีน้ำท่วมสูง ซึ่งทางตลาดได้นำเชือกมากั้นไม่ให้รถผ่านเข้าใช้เส้นทาง นอกจากนี้บริเวณใต้สะพานกลับรถรังสิต ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่สูงมากรถเล็กสามารถวิ่งผ่านได้
...



...
ส่วนหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตอนนี้ระดับน้ำภายในหมู่บ้านแห้งจนหมดแล้ว แต่จะมีก็แค่บนถนนรังสิต-ปทุมธานี บริเวณหน้าหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี เท่านั้นที่ยังมีน้ำท่วมขังผิวการจราจร ทำให้รถชะลอตัว.