รมว.ยุติธรรม จับมือ ผู้ว่า กนอ. เดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร สร้างแรงงานผู้ต้องขัง หวังทำให้ได้จนสำเร็จ รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร ขอบคุณพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้คนพื้นที่
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (9 ก.ค.) ที่นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ดร.ศุภพรพงษ์ ชวนบุญ ประธานกรรมการ บริษัท ศิวาชัย จำกัด นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม น.ส.นันทรัศมิ์ เทพดลไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย (สมภพ) นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร จ.สมุทรสาคร
โดย นายวีริศ กล่าวรายงานว่า กนอ.ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท ศิวาชัย จำกัด ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งบริษัทฯมีแนวคิดพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครตามแนวทางความร่วมมือระหว่าง กนอ. กระทรวงอุตสาหกรรม กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 64 ที่รับทราบผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ มีจุดมุ่งหมายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษ สร้างอาชีพในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกอบการจัดตั้งนิคมฯ อาทิ เอกสารด้านกรรมสิทธิ์ที่ดิน การออกแบบระบบสาธารณูปโภคโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน แนวคิด รูปแบบการพัฒนาโครงการในรายละเอียด เป็นต้น เพื่อจัดส่งให้ กนอ.พิจารณาเสนอขออนุมัติในหลักการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม
...
นายวีริศ กล่าวอีกว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร เป็นโครงการที่มีศักยภาพและเอื้อต่อการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติก ที่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ มีขนาดพื้นที่กว่า 4,132 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนพระราม 2 ห่างจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก เพียง 30 นาที และห่างจากตัวเมืองสมุทรสาคร เพียง 15 นาที โครงการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร มุ่งเชื่อมโยงประโยชน์สร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ด้วยศักยภาพพื้นที่บริการที่มีประสิทธิภาพ สิทธิประโยชน์ในระยะยาว และแผนการพัฒนาที่รองรับการเติบโตในระดับภูมิภาคให้มีศักยภาพ การแข่งขันในตลาดโลก โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตและดิจิตัล กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์อัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนยินดีที่ได้เห็นโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งตามแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อส่งเสริมแรงงานราชทัณฑ์ที่พัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว ให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีงานทำ โดยจัดเป็นลักษณะนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างเมืองใหม่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับ จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้แรงงานราชทัณฑ์มีงานทำไม่ต่ำกว่า 30,000 คน นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก
"ผมเห็นกรมราชทัณฑ์ในการให้ความรู้ ฝึกอบรมผู้ต้องขัง พยายามหางานให้กับผู้ใกล้พ้นโทษ แต่สิ่งที่ตามมา คือ การปรับสภาพของผู้จ้างที่ยังเกรงกลัวผู้ต้องขัง ซึ่งถ้าเราจะจัดหางานให้ผู้ต้องขังคงไม่ทัน แต่หากเราตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ จะทำให้เขามีงานทำอย่างยั่งยืน หากสำเร็จจะเป็นแบบอย่างให้ต่างประเทศ การเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญ เราหวังว่ากระทรวงอุตสาหกรรม กนอ.และบริษัทฯเป็นผู้นำร่อง ไม่ทำให้โครงการเป็นหมัน ตรงนี้จะเป็นต้นแบบและแนวทางให้โอกาสผู้ต้องหาคดีร้ายแรงต่างๆจะได้ลดลง ไม่ให้คนกลับมาทำผิดซ้ำ ผมมั่นใจจะแก้ไขปัญหาได้มากมาย" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. ที่ได้สร้างงานสร้างอาชีพ พัฒนาพื้นที่ตรงจุดนี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัด นอกจากสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษแล้ว ยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย โดยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเนื้อที่ 24-130 ไร่ 46 แปลง พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก เนื้อที่ 10-22 ไร่ 14 แปลง พื้นที่พาณิชยกรรม 1 แปลง และมีพื้นที่ติดทะเล 3 แปลง ซึ่งจะพัฒนาได้อีกมาก