ผวจ.อยุธยา ติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อเกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ทุ่งทะเลมหาราช เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในการทำเกษตรไม่เสียหาย และให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานบริหารน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ทุ่งทะเลมหาราช โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อพี่น้องชาวนา โดยมีศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักชลประทานที่ 10 รวมถึงผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต้อนรับ ณ ประตูน้ำวัดอุโลม อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
นายภานุ เปิดเผยว่า ทุ่งมหาราช มีเนื้อที่ประมาณ 32,000 ไร่ คลุมพื้นที่ของ 2 จังหวัดใน 4 อำเภอด้วยกัน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในระบบชลประทานกับแม่น้ำลพบุรี ที่ผ่านมาตนเคยมาเยี่ยมพี่น้องประชาชน ก็มีข้อเสนอมาว่า หลังจากฤดูกาลทำนาปีแล้ว น้ำจะถูกปล่อยระบาย ลงแม่น้ำลพบุรี พอเกี่ยวข้าวก็ต้องระบายน้ำออกไป ทิ้งลงไปในคลอง ไหลสู่แม่น้ำลพบุรี และลงเจ้าพระยา ในมุมมองของชาวบ้านมองว่าน้ำเหล่านี้ควรจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่อ
...
"อันนี้เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งว่า น้ำที่มีปริมาณเยอะ ถ้าสามารถบริหารจัดการตอนทดลอง ทางสำนักชลประทานที่ 10 ก็ได้มาร่วมทดลองด้วย ทุกคนเห็นตรงกันว่า มันเป็นไปได้ เมื่อปล่อยน้ำลงไปแล้ว เราบังคับประตูน้ำ น้ำมันจะดันขึ้นไปและก็เกิดประโยชน์ในการทำนาในรอบต่อไป เราจะเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไปยังคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และขอให้ทางชลประทานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาช่วยตรวจสอบยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ และไม่ได้กระทบต่อแผนบริหารน้ำของประเทศ อยากให้พี่น้องที่อยู่ในทุ่งมหาราชแห่งนี้ได้ใช้แนวทางนี้ในการบริหารน้ำ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรต่อไป"นายภานุ กล่าว
สำหรับข้าวถือเป็นสินค้าหลัก ที่จะสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร เมื่อมีน้ำเพาะปลูกอย่างเพียงพอ ผลผลิตเกษตรกรไม่เสียหาย ก็ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หน่วยงานที่ให้ความรู้วิชาการและส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดทุกองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น หากเกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตดี ข้าวขายได้ราคาดี ก็จะเป็นหนทางที่ช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพสืบไป
ทั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนน้ำของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งทะเลมหาราช ซึ่งเป็นพื้นที่ของเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่บางนาน้ำเต้า ต.น้ำเต้า อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มเกษตรกรนำเสนอแนวทางการเปิดปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เพื่อเป็นการบริหารจัดน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด.