ประเทศไทยเข้าสู่ช่วง “ฝนตกชุกหนาแน่น” ล่าสุดสถานีวัดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (C.2) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,909 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำสู่ท้ายเขื่อน 1,321 ลบ.ม./ต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ

วันที่ 14 ก.ย. 64 สถานการณ์น้ำท่า จังหวัดนครสวรรค์ เช้าวันนี้สถานีวัดน้ำแม่น้ำปิง (P.17) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 786 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 922 ลบ.ม./วินาที) สถานีวัดน้ำแม่น้ำน่าน (N.67) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 875 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 787 ลบ.ม./วินาที) สถานีวัดน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (C.2) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,909 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 1,827 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 3.86 เมตร

...

นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครสวรรค์ ให้ข้อมูลว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นทางระบายน้ำ ล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง 12-16 ก.ย. 64 เนื่องจากอิทธิพลจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ซึ่งในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน มีมวลน้ำที่ไหลมาในพื้นที่มาจากจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร และพิษณุโลก ผ่านแม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ที่ต้นน้ำเจ้าพระยา ซึ่งระดับสูงขึ้นมาพอสมควร แต่เป็นอัตราการไหลที่ระดับแม่น้ำเจ้าพระยารองรับได้ ซึ่งยังไม่กระทบกับบ้านเรือนข้างเคียงแม่น้ำมากนัก แต่จะกระทบกับประชาชนที่มีการเลี้ยงปลาริมตลิ่ง

ขณะที่ นายฐกร กาญจิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคกลาง การคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 10-13 กันยายน 2564 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียวใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำสะแกกรัง ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดวันนี้ (14 ก.ย.) ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ วัดได้ 1,909 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำสู่ท้ายเขื่อนด้วยอัตรา 1,321 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี และหากข้างหน้าถ้ามีอัตราปริมาณไหลผ่านสถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไหร่ จะส่งผลทำให้เกิดอุทกภัยอย่างแน่นอน.