ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการมี 2 ปัจจัยหลัก คือ ‘ลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายกับแอ่งกระทะ’ เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีการสูบน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 ปี เป็นผลให้พื้นที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำทะเล และ ‘ไม่มีช่องทางระบายน้ำ’ จากการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ จึงมี 2 ข้อเสนอต่อหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ผู้นำท้องถิ่นต้องเข้าใจลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นที่ภายในจังหวัดซึ่งหลายพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานาน จึงก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ เหตุเพราะพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะและไม่มีพื้นที่ธรรมชาติรองรับหรือซับน้ำ 2.จัดสรรพื้นที่สาธารณะเป็นบ่อพักน้ำ ปัจจัยหลักของการเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีพื้นที่ธรรมชาติ/พื้นที่สีเขียวรองรับน้ำ ฉะนั้น จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาพื้นที่ของรัฐ พัฒนาเป็น ‘สวนสาธารณะหรือทะเลสาบ’ สำหรับเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่พักน้ำเพื่อรอการระบาย หรือแก้มลิงใต้ดินเพื่อรองรับน้ำ นอกจากนี้ ยังเสนอให้พิจารณาใช้พื้นที่ของภาคเอกชนเพื่อรองรับน้ำ ในลักษณะการยื่นข้อเสนอเพื่อลดภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ อาทิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สำหรับภาคประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องเครื่องยนต์มอเตอร์หรือลูกสูบที่จมน้ำเป็นเวลานานนั้น สามารถแก้ไขได้เพียง ถอดส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ออกมาเป่าให้แห้ง พร้อมกับหล่อน้ำมันเพื่อคืนสภาพเครื่องยนต์โดยเร็ว.
...