ลูกประคบสมุนไพร หนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษมาถึงทุกวันนี้
เพื่อเป็นการต่อยอดสมุนไพรไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสมุนไพรทางการแพทย์บ้านหนองมะกอก หมู่ 3 ต.หนองนางนวล อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆในการใช้รักษาโรค
โดยได้รับการสนับสนุนจาก ผศ.ณัฐเศรษฐ์ น้ำคำ และทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มาช่วยให้คำแนะนำสูตรการทำลูกประคบให้กับสมาชิก
สำหรับลูกประคบดังกล่าวเป็นสูตรกลางๆที่สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้การส่งเสริม สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการรักษา
ตัวยาหลักประกอบด้วยไพลแก้ปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ ผิวมะกรูดแก้ลมวิงเวียน ตะไคร้บ้านใช้แต่งกลิ่น ใบมะขามแก้อาการคันตามร่างกายช่วยบำรุงผิว ใบส้มป่อยช่วยบำรุงผิวแก้โรคผิวหนัง ขมิ้นชันช่วยลดอาการอักเสบแก้โรคผิวหนัง ขมิ้นอ้อยช่วยลดอาการอักเสบแก้โรคผิวหนัง เกลือช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนัง การบูรใช้แต่งกลิ่นบำรุงหัวใจ และพิมเสนใช้แต่งรสแก้พุพองแก้หวัด
ที่พิเศษสุดคือในลูกประคบยังมีส่วนผสมของพืชสมุนไพรกัญชาที่มีสรรพคุณหลากหลาย เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์
วิธีผสมสมุนไพรในลูกประคบจะนำส่วนผสมต่างๆคลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ห่อเป็นรูปทรงตามแบบอย่างโบราณด้วยผ้าดิบ 2 ชั้น แบ่งเป็น 2 ลูกเท่าๆกันให้มีชายผ้าที่ห่อรวบเอาขึ้นข้างบนให้เสมอกัน ผูกมัดชายผ้าให้รวมเข้าหากัน ก่อนมัดเอาไว้ด้วยเชือก หรือด้ายให้เป็นเงื่อนกระตุก เวลานำไปใช้เอามาอังความร้อนประคบตามต้องการ
ประโยชน์ของการประคบสมุนไพรจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ช่วยให้น้ำคาวปลาไหลเวียนสะดวก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการปวด อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เนื้อเยื่อพังผืดยืดตัวออก
นับเป็นตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งในยุคเศรษฐกิจโควิด-19 ระบาด.
สำรวม บุญล้น/รายงาน