อาจารย์ ม.มหิดล 1 ในอดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติฯสุดทน ซัดเละการแก้ปัญหากะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถูกภาครัฐเตะถ่วงไปเรื่อยๆ เพราะไม่กล้าตัดสินใจ แถมกอดกฎหมายเอาผิดกับชาวบ้านอย่างเดียว ระบุนักวิชาการอิสระเสนอทางแก้ปัญหากลับไม่รับฟัง จนคณะทำงานยุทธศาสตร์ทั้ง 6 คนต้องถอนสมอลาออก ฝากถึง “รมต.ท็อป-อธิบดีกรมอุทยานฯ” บอกให้ชัดจะเอาอย่างไรกันแน่

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง กรณีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เกือบ 100 ชีวิต ที่พยายามจะกลับขึ้นไปอาศัยใน “ใจแผ่นดิน” บริเวณหมู่บ้านเดิมในพื้นที่บางกลอยบน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จุดที่เคยถูกไล่รื้อและเผาทิ้ง หลังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้อพยพย้ายลงมาอยู่ในบ้านบางกลอยล่าง ที่จัดสรรให้บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเพชรบุรีจากบ้านโป่งลึก แต่ชาวกะเหรี่ยงอยู่ไม่ได้ เพราะที่ดินเป็นลานหินทำกินไม่ได้ และบางส่วนไม่ได้ที่ดิน

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่แล้ว นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โพสต์คลิปการบินสำรวจป่าแก่งกระจานในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า “พบพื้นที่บุกรุกป่าเหนือบ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย แผ้วถางป่าใหม่ 10 จุด ประมาณ 30 ไร่ ระหว่างบินผ่านแม่น้ำบางกลอย พบคนล่องแพลงมา 2 คน” ขณะที่ข้อต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงอ้างว่า วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจะทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำไร่ในพื้นที่เดิมเหมือนคนไทย เพราะบรรพบุรุษสอนว่า ต้องปล่อยให้พื้นที่ทำกินคืนสภาพจนอุดมสมบูรณ์ก่อน ถือเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีข้อสรุป เพราะเจ้าหน้าที่มองว่าการเปลี่ยนที่ดินทำกินไปเรื่อยๆ คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม

...

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ความขัดแย้งเรื่องที่ทำกินและกรรมสิทธิ์ที่ดินของกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กับภาครัฐเริ่มเห็นแสงสว่างในช่วงแรกที่นายวราวุธ ศิลปอาชา เข้ารับตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญนักวิชาการอิสระที่มีชื่อเสียงด้านสิทธิมนุษยชน และอื่นๆรวม 6 คน มีตนเป็น 1 ในนั้น เข้ามาเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อมาตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ได้ขอทราบความคืบหน้าในการกลับเข้าไปใช้ชีวิต ณ บ้านกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ภาครัฐถ่วงเวลาไปเรื่อยๆไม่มีคำตอบให้ จนเกิดอาการฝีแตก เมื่อคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติฯทั้ง 6 คน ได้ประกาศลาออก

“เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่นักอนุรักษ์ และนักสิทธิมนุษยชนต่างเคลื่อนไหว มีการรณรงค์กดดันมิให้ภาครัฐใช้ความรุนแรงจัดการกับกะเหรี่ยงบางกลอยในทุกรูปแบบ พร้อมให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวคิด รูปแบบวิธีการจัดการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม ยั่งยืน ป่า 1 ผืน กว้างเป็นล้านไร่ กว้างใหญ่มาก แต่ฝากความหวังไว้กับข้าราชการระดับสูงเพียงคนเดียว นอกนั้นก็คือพนักงานจ้าง ลูกน้องเป็นเครื่องมือตัดสินปัญหาไปทุกเรื่อง เช่น อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ใช้อำนาจประกาศผืนป่าให้เป็นเขตอุทยานฯ ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ชาวบ้านที่เขาอยู่มาก่อนก็ได้รับผลกระทบ ทำอะไรก็ผิดกฎหมาย ไม่ใช่แค่บางกลอย แต่ยังมีแม่ฮ่องสอน น่าน เชียงใหม่ กรมอุทยานฯกอดกฎหมายจัดการกับประชาชน ให้เขามาพิสูจน์สิทธิ์ภายในวันนั้นวันนี้ หากไม่ทันจะถือว่าสละสิทธิ์ แบบนี้มันเป็นการบังคับประชาชนมากเกินไป” นายเพิ่มศักดิ์กล่าว

นายเพิ่มศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องกะเหรี่ยงบางกลอย พวกเขาต้องอพยพเมื่อปี 2539 การแก้ปัญหาไม่ครอบคลุม ครึ่งหนึ่งได้ที่ดิน อีกครึ่งไม่ได้ ส่วนที่ได้ก็เป็นดินลูกรังเป็นหินกรวด เพาะปลูกลำบาก วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ไปตรวจหาอาวุธได้เครื่องมือเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เรามองว่าการขอเป็นมรดกโลกก็ว่าไป กะเหรี่ยงไม่ค้านอะไร เขาให้ความร่วมมือ สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ชอบธรรมกับพวกเขาคือ การจัดการสิทธิ์ที่ดินทำกิน เรื่องแบบนี้รัฐไม่ทำแต่จะใช้กฎหมายจัดการ ขนาดนักวิชาการนำแผนที่ทหารบกปี 2497 มาแย้งว่าบ้านบางกลอยใจแผ่นดินมีมาก่อนแล้วก็ไม่ฟังไม่ยอมรับ แต่ใช้วิธีปรับแนวเขตอุทยานฯแล้วใช้กฎหมายจัดการ ทางแก้ไขเรื่องนี้ไม่ซับซ้อนอะไร ให้เลือกเอาระหว่างให้กะเหรี่ยงบางกลอยขึ้นเขาหรือลงมาอยู่ข้างล่าง ทุกวันนี้พวกเขาตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด วิถีชีวิตเปลี่ยน ทำงานในเมืองก็ไม่ได้ จะกลับไปปลูกข้าวก็ถูกจับ พวกเราเสนอทางออกฝ่ายการเมืองก็ไม่ตอบ ไม่คุย ไม่หารือ

“อยากฝากไปถึงนายวราวุธ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีมีอำนาจ ควรดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ข้อมูลทั้งหมดเชื่อว่ามีอยู่แล้ว เหลือการตัดสินใจอย่างเดียว ถามอธิบดีกรมอุทยานฯให้ได้ความ จะให้พวกเขาอยู่ข้างบนหรือข้างล่าง ว่ากันมาชัดๆ” นายเพิ่มศักดิ์กล่าว