รฟท.ทำพิธีเทคอนกรีตเสาตอม่อ "สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง" แห่งใหม่ ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน โดยเป็นสะพานคานคอนกรีตสมดุลผสมเคเบิลขึง โดยไม่มีเสาตอม่ออยู่ในน้ำ เลี่ยงกระทบระเบิดเก่า
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.63 ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างเสาตอม่อสะพาน ฝั่งค่ายภาณุรังษี อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวิสาห์ พูลสิริรัตน์ รอง ผวจ.ราชบุรี พร้อมพลโท อนุสรณ์ ปัญญะบูรณ์ เจ้ากรมการทหารช่าง, นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง, นายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ วิศวกรศูนย์โครงการก่อสร้าง ได้ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมจัดพิธีเทคอนกรีตฐานเสาตอม่อสะพาน (Pylon) ของสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง สืบเนื่องด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทางประมาณ 93 กิโลเมตร มูลค่างานก่อสร้าง 8,198 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างสะพานรถไฟประมาณ 32 เดือน


...
สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองเดิม จะเป็นสะพานเหล็กในรูปแบบเดียวกับสะพานจุฬาลงกรณ์ โดยจะต้องมีตอม่ออยู่ในลำน้ำ และต่อมาโครงการได้รับข้อมูลจากสถาบันราชบุรีศึกษา ว่ามีระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ในลำน้ำบริเวณเดียวกับพื้นที่ก่อสร้างสะพานรถไฟ หากจะก่อสร้างสะพานแบบเดิมจะต้องมีการเคลื่อนย้ายระเบิดออกทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบสะพานใหม่ก็เป็นทางออกที่ปลอดภัย โดยจะไม่มีตอม่อในลำน้ำ โดยการก่อสร้างตอม่อจะอยู่บนฝั่งทั้งหมด รถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มีคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบงานก่อสร้างสะพานรถไฟ และหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการก่อสร้างในลำน้ำ

ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท เอ.เอส แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด และบริษัทได้นำเสนอการสร้างภายในรูปแบบผสมแบบเป็นแบบคานคอนกรีตสมดุล (Balance Centilever) ผสมกับการมีเคเบิลขึง (Tension cable) เรียกชื่อว่า Extradose Bridge โดยสะพานดังกล่าวจะไม่มีเสาตอม่ออยู่ในลำน้ำ และรูปแบบที่บริษัทมานั้นได้รับความเห็นชอบจากการรถไฟ คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นชอบ นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการเทคอนกรีตฐานเสาตอม่อสะพาน (Pylon) ของสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำกลองอีกด้วย

นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง เปิดเผยว่า สะพานดังกล่าวเป็นสะพานที่สำคัญในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ซึ่งจะเป็นสะพานแห่งแรกที่มีการก่อสร้างในประเทศไทย มีความยาวสะพานรวม 340 เมตร มีช่วงสะพาน 3 ช่วง โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตร โดยจะเป็น สะพานขึงสำหรับรถไฟแห่งแรกในประเทศไทย

...
วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง กล่าวอีกว่า การก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ประโยชน์ที่จะได้รับ จะลดความเสี่ยงจากการเก็บกู้และการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด สามารถดำเนินการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองต่อไปได้ ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการการเดินรถไฟทางคู่ในเชิงพาณิชย์ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่จะเป็นจุดเด่นของชาว จ.ราชบุรี เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว และจะสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ในช่วงของการก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในด้านการขนส่ง คมนาคม และการท่องเที่ยวแก่ประชาชนชาว จ.ราชบุรี.