ที่ผ่านมาต้องยอมรับคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจมาตรฐานจีเอพี (GAP) กันแบบผิดๆมาตลอด แม้แต่ระดับรัฐมนตรียังเข้าใจไปว่ามาตรฐาน GAP ห้ามใช้สารเคมีในแปลงเกษตร ประกอบกับกระแสแบนสารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสมาแรง ทั้งที่ดูข้อมูลอยู่ด้านเดียว จึงเป็นที่มาของ “โครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก” เพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบการผลิตผักและผลไม้ โดยใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย
อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรในโครงการฯ เผยว่า โครงการนี้ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมอยู่ภายใต้การทำงานของกระทรวงเกษตรฯ มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรของเครือข่ายผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพี เป็นการทำงานภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน เพื่อมุ่งเน้นการผลิตอาหารปลอดภัยไร้สารตกค้าง แม้จะใช้สารเคมีซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกก็มีใช้กันในทุกประเทศ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการอบรมให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้สารเคมีอย่างไรให้ปลอดภัย โดยในรุ่นแรกมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรุ่นแรกทั้งสิ้น 50 ราย จากผู้ปลูกพืช ผัก และผลไม้ในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ปัจจุบันเกษตรกรเหล่านี้ นำไปปฏิบัติตามมาตรฐานจีเอพี เพาะปลูกและใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม รู้จักป้องกันตนเอง และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ได้ทั้งผลผลิตเพิ่มขึ้น และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยโครงการจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมนี้
...
“อยากเน้นย้ำว่า การพัฒนาภาคเกษตรกรรม คงต้องยึดหลักผสมผสานอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบ สอดคล้องกับความเป็นจริง และอยากให้เข้าใจด้วยว่าการผลิตอาหารปลอดภัยมี 2 ระบบ คือการเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีเลย และการเกษตรมาตรฐานจีเอพี ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ไร้ผลตกค้าง มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย แต่ด้วยวิธีการที่ต่างกัน และขอยืนยันว่า เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เท่าที่ผ่านมามีการตรวจสอบน้ำ ดิน ผักและผลไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ตลอดระยะเวลา 2 ปี ก็ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอตอย่างที่ถูกกล่าวหามาตลอด จากคนที่ไม่เคยทำเกษตร” อัญชุลี กล่าว.