(แฟ้มภาพ)
ดำรงค์-เดือด! ไล่มูลนิธิสืบฯ
ต้านกรมอุทยานฯผุด “ซาฟารีห้วยขาแข้ง” งบ 100 ล้านบาท เผยกระทบสัตว์ป่าและพื้นที่มรดกโลก อธิบดีกรมป่าไม้แฉเป็นแนวคิดของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กับยูเอ็นดีพี ระบุจะใช้พื้นที่รอยต่อของกรมป่าไม้ แต่ไม่เคยมาแจ้ง ส่วนมูลนิธิสืบฯ มาแปลกหนุนอ้างเป็นห้องรับแขกให้ประชาชนเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่า เผยมีวัวแดงมากกว่า 80 ตัว กระทิง ช้างป่า ละองละมั่งเพียบ แต่พร้อมต้านหากเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ขณะที่ “ดำรงค์ พิเดช” ของขึ้น สวนมูลนิธิสืบฯเสนอให้ออกมาจากป่าห้วยขาแข้งแล้วหยุดอ้างเป็นเจ้าของป่า
กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาเปิดเผยระหว่างร่วมงานรำลึก 29 ปี “สืบ นาคะเสถียร” เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า กรมอุทยานฯกำลังดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ในผืนป่าตะวันตก ตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่าในรูปแบบซาฟารีคล้ายในทวีปแอฟริกาในพื้นที่ป่าสงวน รอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลากว่า 3 หมื่นไร่ ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งภายหลังมีการเผยแพร่ข่าวในโลกโซเชียล ปรากฏว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ถึงแม้จะดำเนินการพื้นที่รอบนอก แต่ไม่มีใครรับประกันว่าจะไม่กระทบต่อมรดกโลก ที่สำคัญนายสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้อุทิศชีวิตเพื่อรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าแต่กลับมาใช้พื้นที่ห้วยขาแข้งเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกมาย้ำถึงโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกว่า สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (ยูเอ็นดีพี) ให้งบประมาณกับกรมอุทยานฯ และกรมไปจ้างคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อศึกษาวิจัย จนเป็นที่มาของแนวคิดการบริหารจัดการสัตว์ป่าในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป้าหมายคือการจัด การสัตว์ป่า ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีรายได้และร่วมดูแลอนุรักษ์สัตว์ป่าไปในตัว ทั้งนี้ ไม่อยากให้ใช้คำว่า ซาฟารี เพราะประชาชนอาจไปจินตนาการว่าต้องมีการขับรถพานักท่องเที่ยวส่องสัตว์ป่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย โดยภายในปีนี้คณะวนศาสตร์ มก.จะสรุปรูปแบบและพื้นที่โซนการท่องเที่ยว เสนอมายังคณะกรรมการโครงการฯ และกรมอุทยานฯตามขั้นตอน
...
ด้านนายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า มูลนิธิเห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่มีสัตว์ป่ามากขึ้น เช่น วัวแดงที่มีมากกว่า 80 ตัว ช้างป่า หมูป่า เก้ง กวาง นกยูง ยังมีละองละมั่ง ที่นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การที่สัตว์ป่ามากขึ้นทำให้การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยล้นมายังขอบป่า ดังนั้นควรมีการจัด การ ซึ่งพื้นที่ที่ทำจะเป็นซาฟารี เป็นป่าเต็งรังที่อุดมสมบูรณ์ โดยทำเป็นโซนการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าให้ชุมชนในพื้นที่มาเป็นเจ้าภาพในการพาไปดูสัตว์ป่า แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่กระทบกับชุมชน และไม่กระทบโซนสัตว์ป่า และโซนไข่แดงของห้วยขาแข้ง ซึ่งป่าห้วยขาแข้งมี 3 โซน คือ 1.โซนไข่แดงหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2.ป่าสงวนแห่งชาติ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 รอบป่าห้วย ขาแข้ง และ 3.พื้นที่ที่ชุมชนอาศัยทำกิน โดยบริเวณที่จะมีแนวคิดทำซาฟารีจะอยู่โซนที่ 2 และ 3
นายภานุเดชกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ มีความเป็นห่วงถ้าจะทำเป็นซาฟารีห้วยขาแข้งหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพ เพราะต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท หากทำแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ หากเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน มูลนิธิฯก็ไม่ยอม เพราะสิ่งที่เราอยากได้คือ การดูแลป่าและสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม หากจะทำซาฟารีห้วยขาแข้งก็จะเหมือนห้องรับแขกให้ประชาชนได้เข้ามาชมสัตว์ป่า ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้การ บริหารจัดการที่มีศักยภาพ ทำให้เหมาะสมไม่ส่งผล กระทบต่อสัตว์ป่า
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีแรงต้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะมีการทำซาฟารีห้วยขาแข้ง และจะมาใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ดูแล กรมป่าไม้ไม่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าทำจริงต้องมาถามตน แต่ไม่มีใครมาคุย โดยโครงการนี้เป็นเรื่องของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่รับงบจากยูเอ็นดีพีให้มาศึกษาวิจัยในพื้นที่ ไม่เกี่ยวกับกรมป่าไม้ หากทำจริงต้องมีการลงทุน แล้วใครจะลงทุนและใครจะทำ เพราะประชาชนไม่เห็นด้วยเพราะเป็นโครงการที่คิดกันเอง
ส่วนนายไพรัตน์ ชาญชัย นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดซาฟารีห้วยขาแข้ง เพราะจะกระทบกับสัตว์ป่าและพื้นที่มรดกโลก การท่องเที่ยวของไทยกับต่างประเทศไม่เหมือนกัน จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ถ้ากรมอุทยานฯจะทำก็ต้องศึกษาให้ดี เพราะเป็นเรื่อง ใหญ่ เช่นเดียวกับนายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งซาฟารีห้วยขาแข้ง แม้จะทำบริเวณรอบนอกห้วยขาแข้ง แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่กระทบกับผืนป่าตะวันตกที่เป็นมรดกโลก ที่สำคัญมูลนิธิสืบฯที่ไปทำงานในป่าห้วยขาแข้งควรจะออกนอกพื้นที่ห้วยขาแข้งได้แล้ว ไม่ใช่ไปตั้งที่ทำการในห้วยขาแข้ง และอ้างตนเองเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า