ชาวสวนมะพร้าวคาใจพาณิชย์กำหนดพื้นที่ควบคุมแค่ 5 จว.ขณะที่จังหวัดติดชายแดนไม่ถูกคุม เปิดโอกาสมะพร้าวเถื่อนทะลักชายแดนต่อเนื่อง รัฐรับข้อเรียกร้องแล้วแต่ราคาขึ้นแค่ 1 บาท ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน...

จากสถานการณ์มะพร้าวราคาตกต่ำ เหลือเพียง 4–5 บาทต่อลูก เครือข่ายชาวสวนมะพร้าวรวมตัวยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐแก้ปัญหา กระทั่งตัวแทนระดับรองปลัดกระทรวงและอธิบดีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาราคามะพร้าว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผลสรุปร่วมกัน 8 ข้อ

แต่ปัจจุบันพบว่าราคามะพร้าวขยับขึ้นมาที่ 6 บาท ซึ่งขึ้นเพียงบาทเดียว และยังคงเป็นปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ลูกละ 8 บาท หากจะให้เกษตรกรอยู่ได้ ต้องมีราคาไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อผล ทั้งนี้มาตรการทั้ง 8 ข้อยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ส่งผลให้มะพร้าวนำเข้าและมะพร้าวเถื่อนยังคงทะลักตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2561 นางศรีประภา อารักษ์ อายุ 50 ปี ชาวสวนมะพร้าวในอำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ กล่าวว่า ปัญหามะพร้าวเถื่อนที่แก้ไม่สำเร็จเห็นชัดเจนคือเรื่องการขนย้าย ที่เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เสนอให้ภาครัฐควบคุมมะพร้าวนำเข้าเพื่อแก้ปัญหามะพร้าวในประเทศราคาตก การควบคุมการขนย้ายข้ามจังหวัด ต้องมีใบกำกับการขนย้าย แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ตอบรับกลับมีการควบคุมแค่ 5 พื้นที่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหานี้ และไม่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง ในเมื่อประเทศไทยมี 77 จังหวัด แต่การควบคุมเพียง 5 จังหวัด ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

...

ชาวสวนมะพร้าว อ.ทับสะแก กล่าวด้วยว่า หากเทียบเคียงกับการขนย้ายสัตว์ เช่น สัตว์ปีก ไก่ เป็ด วัว ควาย ยังมีการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ หากไม่มีการควบคุมอย่างเด็ดขาด จะรู้ได้อย่างไรว่ามะพร้าวแต่ละลูกเป็นมะพร้าวภายในประเทศ หรือมะพร้าวนำเข้าจากอินโดนีเซีย เนื่องจากปริมาณนำเข้าสูงกว่ามะพร้าวในประเทศมาก ซึ่งมีปี 2560-2561 กระทรวงพาณิชย์อนุญาตนำเข้า 500 ล้านลูก แต่ปริมาณมะพร้าวเถื่อนลักลอบนำเข้าสูงกว่า 2 เท่า เท่ากับว่ามีปริมาณมะพร้าวอินโดนีเซียเข้ามาถล่มตลาดในประเทศไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูก.