“สุรศักดิ์” รมว.ทรัพย์ ถกสางปัญหานำเข้าขยะพิษ เตรียมคลี่กฎหมายเอาผิดโรงงาน ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ เอื้อสำแดงเท็จ เชื่อคนไทยพร้อมหนุนใช้ ม.44 แก้ ด้าน “กรอ.”เพิ่งตื่นเตรียมออกประกาศห้ามนำเข้าขยะพิษแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เปิดช่องให้บริษัทนำเข้าขยะอุทธรณ์กับคณะกรรมการชุดใหม่ได้ มูลนิธิบูรณะนิเวศจับมือชาวบ้านหลายจังหวัดแฉแหลก คำสั่ง คสช.เอื้อให้เปิดโรงงานขยะพิษ 3 ปีผุดกว่า 350 โรงงาน ชาวบ้านจังหวัดระยองโวย โรงงานสุดชุ่ยขนาดเอาขยะพิษไปทิ้งในที่นา สารพิษปนเปื้อนเต็มไปหมดทำชาวบ้านป่วยแล้วนับร้อยคน ขบวนการลักลอบนำเข้าขยะพิษดิ้น ขนไปซุกในโกดังจังหวัดสุพรรณบุรีกว่า 10 ตัน แต่ไม่รอดเพราะชาวบ้านเป็นหูเป็นตาจับได้คาหนังคาเขา ขณะที่ตำรวจชุด วิระชัย ทรงเมตตา กับกระทรวงอุตฯตรวจค้นโรงงานอีก 2 แห่ง พบยังเปิดทำงานทั้งที่ถูกจับและสั่งปิดไปแล้ว

กรณีเจ้าหน้าที่ลุยปราบปรามการลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากำจัดในไทยด้วยการสำแดงเท็จ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความคืบหน้าจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินครั้งที่ 5 มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษว่า วันที่ 21 มิ.ย. เวลา 13.30 น. จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงทรัพย์ฯ โดยหลักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ย้อนไปดูสนธิสัญญาการนำเข้าถูกต้องหรือไม่ ถ้าสำแดงเท็จเป็นภัยต่อประชาชนจะไม่ให้นำเข้า ตรงนี้จะหากฎหมายมาดำเนินการ หากต้องใช้มาตรา 44 เชื่อว่าคนไทยจะสนับสนุน

...

เมื่อถามว่าจะตรวจสอบถึงคนที่รู้เห็นเป็นใจเอื้อให้สำแดงเท็จหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า รวมด้วย แต่ยังไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ อย่างตู้คอนเทนเนอร์กรมศุลกากรไม่สามารถเอกซเรย์ได้ทุกตู้ เป็นเพียงสุ่มตรวจ เมื่อถามว่า ลอตล่าสุดพบมีขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่าแสนตัน พล.อ.สุรศักดิ์ ตอบว่า จะพูดคุยกับตำรวจในการชะลอโดยใช้อำนาจหน้าที่ที่มีทั้งหมด ถ้าอะไรทำไม่ได้ระดับกระทรวงจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ตอนนี้ขอเอาสุขภาพคนไทยเป็นเป้าหมายก่อน โรงงานที่ไปเปิดผิดกฎหมายและการดำเนินการไม่ถูก อำนาจกรมโรงงานอุตสาหกรรมอาจไม่ครอบคลุม ตำรวจจึงเข้าไปจับกุม แต่จะใช้กฎหมายไหนลงโทษจะหารือ สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นภาระประเทศไม่เอาเข้า อย่างขยะที่มีสารปรอทประเทศไทยส่งไปกำจัดที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือขยะมือถือเราส่งไปกำจัดที่สิงคโปร์

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผยว่า วันที่ 25 มิ.ย. กรอ.จะออกประกาศเรื่องห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และซากพลาสติกจากต่างประเทศเพื่อไม่ให้นำเข้าอย่างถาวร สัปดาห์หน้าจะเสนอนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นำเรื่องใช้มาตรา 32 วรรค 2 พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม 2532 เสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างยื่นขอนำเข้าจะถูกยกเลิกคำขอทั้งหมด ส่วนกรณีบริษัทนำเข้าที่มีโควตาเหลือ 2,400 ตันคือ บริษัทฟูจิซีร็อกซ์ จำกัด ที่ไม่พบการกระทำผิด สามารถยื่นอุทธรณ์นำเข้าให้ครบโควตาผ่านคณะอนุกรรมการฯที่ตั้งขึ้นใหม่ ทุกบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และซากพลาสติกยังมีสิทธิยื่นขออุทธรณ์นำเข้าผ่านคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ ไม่ต้องผ่าน กรอ.อีกต่อไป

“5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ประเทศไทยนำเข้าซากพลาสติกรวม 110,000 ตัน ปีที่ผ่านมานำเข้า 150,000 ตัน ส่วนซากอิเล็กทรอนิกส์ 5 เดือนแรกปีนี้นำเข้า 37,000 ตัน ปีที่ผ่านมานำเข้า 50,000 ตัน ประเทศที่นำเข้าส่วนใหญ่คือ สิงคโปร์และฮ่องกง เพราะเป็นนายหน้ารับซื้อซากอิเล็กทรอนิกส์และซากพลาสติกส่งต่อมายังประเทศไทย ซากดังกล่าวมีหลายรายการที่นำมาแยกย่อยเพื่อนำมาใช้งานต่อได้” นายมงคลกล่าว

ส่วนการตรวจค้นจับกุมโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังดำเนินต่อไป ที่ จ.สมุทรปราการ วันเดียวกัน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผวจ.สมุทรปราการ พร้อมกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง นำหมายค้นโกดังแยกขยะบริษัทฟ๋งเหยี่ยน จำกัด เลขที่ 88/27 หมู่ 23 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านที่เดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นและน้ำเสีย พบเป็นโกดังขนาดใหญ่ 3 ห้องติดกัน ด้านในมีกองเศษพลาสติกทั้งแบบเม็ดและอัดแท่ง มีคนงานทำงานอยู่ ผู้จัดการโรงงานอ้างว่า วันนี้โรงงานปิดแต่พบเครื่องหลอมยังร้อนอยู่

พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบโกดังนี้แล้ว สั่งให้ปรับปรุงเครื่องหลอมพลาสติกให้ได้คุณภาพภายใน 31 พ.ค. แต่จนถึงปัจจุบันไม่ได้แก้ไข กระทรวงอุตสาหกรรมต้องสั่งปิดและสั่งปรับวันละ 5,000 บาท เนื่องจากผิด พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม 5 ข้อหาประกอบด้วย ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อเติมโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการโรงงานระหว่างที่มีคำสั่งให้หยุดกิจการและไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินคดีทั้งในนามนิติบุคคลและบุคคล

หลังจากนั้นคณะของ พล.ต.อ.วิระชัยเข้าตรวจสอบที่โกดังบริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด เลขที่ 888/7-8 หมู่ 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี หลังตรวจค้น พล.ต.อ.วิระชัยกล่าวว่า หลังตรวจค้นโรงงานขยะที่ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า เป็นผู้ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังโกดังนี้ เพราะได้รับอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย (ใบวอ.4) ถูกต้อง แต่ต้องคัดแยกขยะเองไม่สามารถส่งต่อให้โรงงานอื่นได้ ถือว่าเป็นความผิด จากการตรวจสอบทั้งเครื่องจักรที่ใช้และจุดคัดแยกขยะไม่เพียงพอกับโควตาที่แจ้งนำเข้า 45,000 ตันต่อปี และพบว่ามีใบส่งสายไฟลวดทองแดงไปยังโรงงานอีกแห่งใน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังพบแบตเตอรี่โทรศัพท์และผงเคมีซียู 90 ที่เป็นวัตถุอันตราย ทำให้เกิดการระเบิดได้จำนวนหนึ่ง จะประสานเจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบและนำไปเก็บรักษาไว้

...

ส่วนที่ จ.สุพรรณบุรี ว่าที่ ร.ต.ธราธร แข็งขัน นอภ.บางปลาม้า นายอนุสรณ์ ภู่พงษ์สกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี นายสมพร ทองคำ หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ต.อ.ชัยรัตน์ บัวขม ผกก.สภ.บางปลาม้าและคณะ เข้าตรวจค้นโรงสีร้าง หจก.เจี่ยเฮงฮวกสุพรรณบุรี เลขที่ 158/2 หมู่ 1 ต.วังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า หลังได้รับร้องเรียนว่า ลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจำนวนมาก ตรวจสอบพบขยะอิเล็กทรอนิกส์จริง ทั้งที่กองอยู่กับพื้นและในถุงขนาดใหญ่ ประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอะไหล่รถ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ มีคนงานต่างด้าว 15 คน ช่วยกันแยก มีนายจำรัส กาญจนเพิ่มพูน อายุ 47 ปี เช่าเดือนละ 100,000 บาท นายสมพรกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าทั้งหมดน้ำหนักกว่า 10 ตัน มาจากประเทศจีนและแคนาดา จะแจ้งความร้องทุกข์นำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป

เช้าวันเดียวกัน ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ และตัวแทนชาวบ้าน จ.ฉะเชิงเทรา จ.ราชบุรี จ.ชลบุรี และ จ.สระบุรี แถลงเปิดปูมกรณีนำเข้าขยะพิษ น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า ตั้งแต่ คสช.มีคำสั่ง 4/2559 เรื่องข้อยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับประกอบกิจการบางประเภท รวมถึงโรงงานลำดับที่ 101 การบำบัดของเสีย โรงงานลำดับที่ 105 กิจการคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานลำดับที่ 106 กิจการแปรรูปของเสีย ปี 2559 มีโรงงานเกิดขึ้น 49 แห่ง ปี 2560 จำนวน 199 แห่ง และปี 2561 จำนวน 115 แห่ง การอนุญาตไม่ได้ศึกษาที่ตั้ง เร่งออกใบอนุญาตเพราะนายทุนนำ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 มาข่มขู่เจ้าหน้าที่ ขณะที่รัฐบาลเปิดเสรีนำเข้าของเสียจากต่างประเทศ 14 ฉบับที่ยกเว้นภาษี มีการนำเข้าขยะถึง 37.4 ตันต่อปี กำจัดได้ร้อยละ 44 ส่วนขยะอันตรายร้อยละ 40

...

“อยากเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.4/2559 เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก รวมถึงสอบสวนข้าราชการเรื่องการออกใบอนุญาตนำเข้าว่า ถูกต้องหรือไม่ ส่วนระยะยาวต้องทบทวน หรือแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับ เช่น ประกาศฉบับต่างๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ห้ามนำเข้าขยะอันตราย เพื่อไม่ให้ประเทศเป็นถังขยะโลก” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว

นายภาราดร ชนะสุนทร ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กล่าวว่า ในพื้นที่มีโรงงานขยะอันตราย 106 แห่งคัดแยกแผงวงจร อัดกระดาษและหลอมโลหะ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นมีการลักลอบทิ้งของเสียในที่นาชาวบ้าน ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ดินเสื่อมโทรม แหล่งน้ำธรรมชาติเสียหาย ร้องเรียนหน่วยงานราชการหลายแห่งส่ง เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้วเรื่องเงียบไป ตอนนี้เด็กนักเรียนและชาวบ้านล้มป่วยระบบทางเดินหายใจ 100-200 คน แพทย์โรงพยาบาลประจำ อ.บ้านค่าย ระบุสาเหตุจากรับสารเคมีมากเกินไป