ล้งรับซื้อมะพร้าวขาวยอดตก โรงงานจำกัดโควตา เหตุต่างประเทศงดสั่งมะพร้าวกะทิ-น้ำมะพร้าว ซ้ำราคาต่ำกว่าทุกปี เฉพาะเนื้อมะพร้าวจาก กก.ละ 43 บาท เหลือ 15 บาท ส่วนน้ำมะพร้าวเหลือ กก.ละ 3 บาท...
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2561 นางอวยพร บุพรรณ เจ้าของล้งมะพร้าวเจ๊อวย เปิดเผยว่า ปัจจุบันยอดส่งมะพร้าวขาว สำหรับทำกะทิเข้าโรงงานแปรรูปลดน้อยลง เนื่องจากต่างประเทศงดสั่งซื้อหรือนำเข้า ทำให้โรงงานต้องแบกรับปริมาณล้นคลังสินค้า จึงได้ชะลอปริมาณที่รับซื้อจากล้งมะพร้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อล้งมะพร้าวเองและชาวบ้านที่มีสวนมะพร้าว เพราะล้งทำหน้าที่เก็บรวบรวมผลผลิตในพื้นที่ ที่ได้จากชาวบ้านหรือเกษตรกรรายเล็ก จากนั้นรวบรวมและคัดคุณภาพวัตถุดิบส่งโรงงาน จากที่เคยส่งมะพร้าวขาว หรือเนื้อมะพร้าวที่ได้จากการปอกเปลือก กะเทาะกะลา และขูดผิว จนได้แต่เนื้อมะพร้าวเพียงอย่างเดียว วันละ 50-60 ตัน เหลือเพียงวันละ 20 ตัน เป็นปริมาณที่ลดลงไปกว่าครึ่ง ประกอบกับราคา จากที่เคยสูงสุด 43 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียง 15 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมะพร้าวกิโลกรัมละ 3 บาท

...
ขั้นตอนการทำมะพร้าวขาวมีความยุ่งยาก ตั้งแต่การนำลูกมะพร้าวมาปอกเปลือก กะเทาะกะลา และขูดผิวมะพร้าวที่มีสีน้ำตาลออก เพื่อให้เหลือเพียงเนื้อขาวเพียงอย่างเดียว ส่วนน้ำมะพร้าวที่เหลือเก็บรวบรวมแยกต่างหาก เพื่อนำไปทำน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มบรรจุขวด ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ซึ่งในขั้นตอนการทำมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าปอกมะพร้าว ลูกละ 0.60 บาท ค่ากะเทาะเนื้อมะพร้าว กิโลกรัมละ 3 บาท ค่าขนส่ง และอื่นๆ

นอกจากการเก็บรวบรวมมะพร้าวที่ได้จากเกษตรกรแล้ว ล้งยังรับจ้างทำมะพร้าวขาวจากโรงงานแปรรูปที่เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียที่ถูกต้องตามระเบียบราชการ มาเป็นรายได้เสริมอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทางล้งจะรับซื้อมะพร้าวในพื้นที่เป็นหลักซึ่งได้เปรียบในเรื่องคุณภาพ บางครั้งมีมะพร้าวจากภาคใต้ ส่วนมะพร้าวนำเข้าทางโรงงานเป็นผู้จัดหามาให้ จะใช้ก็ต่อเมื่อมะพร้าวในประเทศขาดแคลน หรือสวนมะพร้าวบางแห่งไม่นำมาทำมะพร้าวขาว เพราะราคามะพร้าวลูกดีกว่าในช่วงที่ราคาเคยขึ้นไปสูงถึง 25 บาท จึงเลือกที่จะขายผลมะพร้าวมากกว่านำมาแปรรูป ทำให้ล้งขาดวัตถุดิบส่งโรงงาน และเป็นผลกระทบต่อคนงานในล้งซึ่งมีรายได้จากการทำงานเป็นรายวัน และลูกข่ายทำมะพร้าวขาวตามบ้านอีกร่วม 500 คน การชะลอการรับซื้อมะพร้าวขาวจากเหตุต่างประเทศงดรับซื้อกะทิสำเร็จรูปและน้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม จึงได้ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่เช่นกัน.