น้ำจะท่วม ไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ...ตัวชี้วัดสำคัญอยู่ที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ถูกนำมาใช้เป็นแก้มลิงรับน้ำเหนือ

ปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีมาตรการปรับการทำนาเร็วขึ้น เก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อน 15 ก.ย. เพื่อปล่อยน้ำเข้านาปล่อยปลาเข้าทุ่ง จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างน่าพอใจก็ตาม...แต่กระนั้น ยังมีข้อบกพร่องในหลายจุด ที่ทำให้ราษฎรในพื้นที่แก้มลิงได้รับความลำบากในการดำเนินชีวิต ถนนหนทางสัญจรไม่ได้ การนำน้ำเข้าทุ่งและระบายออกไม่เป็นไปตามแผน รถยนต์ชาวบ้านถูกน้ำท่วม ศูนย์อพยพไม่มี

เพื่อไม่ให้ปัญหาแบบปีที่แล้วเกิดขึ้นมาอีก สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงนำทีมงานลงพื้นที่ติดตามการวางแผนแก้ปัญหาในจุดที่บกพร่องให้เสร็จทันการรับน้ำเข้าแก้มลิง

ปรากฏว่า การแก้ปัญหายังคงมีลักษณะทำงานแบบเดิม...แย่งกันทำงานแบบซ้ำซ้อน

ถนนที่ถูกกัดเซาะ ทรุดพัง หรืออยู่ในระดับต่ำเกินไปไม่สามารถกั้นน้ำได้ รวมทั้งคูคลองต่างๆ ที่ตื้นเขินต้องขุดลอก ซ่อมบำรุง มีการของบประมาณซ้ำซ้อนกัน...อบต.ของบจากมหาดไทย...ชลประทานขอจากกระทรวงเกษตรฯ...กรมทางหลวงขอจากกระทรวงคมนาคม ต่างคนต่างขอ ไม่มีหน่วยงานไหนมากลั่นกรอง

ใครได้ก่อนทำเสร็จก่อน หน่วยไหนได้ที่หลัง ไม่ได้ทำต้องคืนงบประมาณ ส่งผลให้ชาวบ้านเสียโอกาสในการแก้ปัญหา... ทั้งที่รัฐบาลมีงบประมาณให้

ทั้งนี้ เนื่องจากถนน คลองต่างๆ มีปัญหาไม่รู้ว่าเป็นของหน่วยงานไหนกันแน่ ไม่สามารถหาเจ้าภาพหลักแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

แต่กระนั้น ดร.สมเกียรติ ยืนยันปีนี้ปัญหาจะน้อยกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับทุกหน่วยงานให้วางแผนรับมือแต่เนิ่นๆ

...

ปัญหาแบบที่เกิดในปีแรก...จะต้องไม่เกิดในปีที่ 2 อีก เท่านั้นเอง.

สะ–เล–เต