การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมทางด้านหัตถกรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละพื้นถิ่น....!

นอกจากนี้ ทุกลวดลายผ้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เกิดจากการใช้เครื่องทอผ้า หรือกี่ทอผ้า โดยการนำเส้นไหมมาถักทอให้ได้สีสันสวยงาม แต่เนื่องในอดีตกี่ทอผ้ามีขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายได้ยาก การใช้งานจึงมีข้อจำกัด

วันนี้ ณ บ้านเลขที่ 6/2 หมู่ 6 ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี นายจรูญ พาระมี อายุ 70 ปี หรือครูช่างศิลปหัตถกรรม ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จึงได้คิดค้นของใหม่ขึ้นมาใช้แทนได้แล้ว

นายจรูญ เผยว่า จากความสนใจเรื่องการทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จึงได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการทอผ้าแบบต่างๆ รวมทั้งการใช้กี่แบบเดิมๆของคนยุคก่อน ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงพบข้อบกพร่องมากมาย

ดังนั้นตลอดระยะเวลาถึง 16 ปี จึงนำความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ คิดค้นแก้ไขข้อบกพร่องของกี่ทอผ้าแต่ละขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน ที่สำคัญทอผ้าได้รวดเร็ว และมีขนาดเล็กกะทัดรัด เคลื่อนย้ายได้ง่าย

เมื่อเริ่มต้นผลิตให้กับศูนย์ทอผ้าตีนจก ที่ ต.คูบัว และอีกหลายตำบลที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าทอ จ.ราชบุรี จึงเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุกที่มีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 16 นิ้ว อีกทั้งยังมีศักยภาพทอผ้าได้เร็วกว่าถึง 10 เท่า

ศูนย์ทอผ้าจากภาคต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตนครปฐม จึงสั่งผลิตนำไปให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงการอนุรักษ์ผ้าทอ

แต่ที่ภูมิใจมากที่สุด เมื่อศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ทั้งสนับสนุนและให้โอกาสได้ไปออกงานประชาสัมพันธ์ จนมีต่างประเทศไม่ว่า ญี่ปุ่น หรืออเมริกา สั่งซื้อไปใช้ ที่ โทร.08-3105-5771

...

นายมานิต นพอมรบดี อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า แม้นายจรูญ จะผลิตกี่ขนาดต่างๆได้ แต่ยังไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้ จึงน่าเป็นห่วงอาจถูกต่างชาติซื้อไปลอกเลียนแบบแล้วนำไปจดสิทธิบัตรไว้ก่อนก็อาจเป็นได้

หากผู้สนใจอยากรู้กี่ทอผ้ายุคใหม่จากฝีมือคนไทย มีคุณภาพมากน้อยเพียงใดไปดูไปชมกันได้...!

ศุภโชค สร้อยน้ำ / รายงาน