คนแห่จองเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนสุก-ดิบ ฝีมือ 3 นักศึกษาปวส.วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน แต่ยังขายให้ไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร เตรียมส่งประกวด นวัตกรรมใหม่

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 15 พ.ค.61 ที่วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้สื่อข่าวร่วมตรวจสอบ เครื่องวัดคุณภาพทุเรียน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ชนะเลิศในระดับกรมอาชีวศึกษา เพื่อช่วยชาวบ้านที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่มีพื้นที่ปลูก มากถึง 2,000 ไร่ โดยเฉพาะทุเรียนคลองลอย ที่มีชื่อเสียง แต่มีปัญหาที่เกิดจากการนำทุเรียนอ่อนของพ่อค้าออกไปจำหน่าย ทำให้ทุเรียนบางสะพานหรือทุเรียนคลองลอย เสียชื่อเสียง อีกทั้งราคาตกต่ำลง

ทางวิทยาลัยการอาชีพบางสะพานจึงให้นักศึกษาช่วยกันคิด ว่าในพื้นที่มีผลกระทบในเรื่องของอาชีพอย่างไร ซึ่งมีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 3 คน ประกอบด้วย นายเมธี ขำพวง, นายพันทิวา คำแก้ว และนายสมทรง แจ้งอักษร จากแผนกวิชาเทคนิคการผลิต ได้นำเสนออาจารย์ที่ปรึกษาประดิษฐ์เครื่องวัดความสุกของทุเรียน ได้รับการส่งเสริม ให้มีการคิดค้น และประดิษฐ์ อุปกรณ์ดังกล่าว ในช่วงแรกลองผิดลองถูก มาถึง 3 ครั้งด้วยกัน และพัฒนามาด้วยจนถึงครั้งที่ 4 สามารถตรวจวัด ทุเรียนดิบ ทุเรียนห่าม และทุเรียนสุก ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลงานประดิษฐ์ในชิ้นนี้ได้ส่งประกวดในระดับจังหวัด ระดับภาค และกรมอาชีวศึกษา ได้รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ยอดเยี่ยม 

...

นักศึกษากลุ่มดังกล่าว เปิดเผยวิธีการใช้ว่า เครื่องวัดคุณภาพทุเรียนนี้ ลักษณะคล้ายกับปากกา ใช้เข็มฉีดยาเสียบปลายเพื่อแทงเข้าไปวัดเนื้อทุเรียนที่อยู่ภายในลูก ซึ่งเข็มปากกานี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปเมื่อใช้ เสร็จสิ้นแล้ว สามารถจะถอดเปลี่ยนได้ อีกครั้งเข็มฉีดยา จะปราศจากเชื้อโรค ทำให้ไม่มีสิ่งแปลกปลอมในการวัดและทุเรียนไม่เกิดความเสียหาย

"สำหรับวิธีใช้ เมื่อกดเข็มลงไป เครื่องวัดจะตรวจระดับความดัน ส่งผลขึ้นมาที่ตัวชี้วัด ซึ่งสามารถอ่านค่าได้เช่น ทุเรียนดิบเป็นสีแดง ทุเรียนห่ามจะขึ้นเป็นสีเหลือง และทุเรียนสุกจะขึ้นเป็นสีเขียว สามารถทราบผลได้ภายใน 1 นาทีเท่านั้น วิธีการใช้ก็สะดวก พกพาง่าย"

ด้านนายจิตวัฒนา บุญเลิศ อาจารย์ที่ปรึกษา เปิดเผยว่า นวัตกรรมใหม่เครื่องวัดคุณภาพทุเรียนที่นักศึกษาได้ช่วยกันคิดค้นในครั้งนี้ ขณะนี้ได้รับความสนใจจาก ประชาชนจำนวนมาก ทั้งพ่อค้าและเกษตรกรทั่วไป เพื่อที่จะนำไปใช้วัดคุณภาพของทุเรียน อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการจดสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา จึงยังไม่สามารถที่จะนำไปจำหน่ายให้กับผู้สนใจได้ นอกจากนี้ได้เตรียมส่งเข้าประกวด ใน สวทช. หรือกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสิ่งที่ดีมาทำการปรับปรุง ในการต่อยอดนวัตกรรมชิ้นนี้ต่อไปด้วย 

ขณะที่ นายบรรยงค์ วงศ์สกุล ผอ.ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน เปิดเผยว่า หลังจากได้ส่งประกวดเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนชิ้นนี้แล้ว ได้รับชนะเลิศในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศของกรมอาชีวศึกษา จึงได้ให้คณะครูและนักศึกษานำไปต่อยอด เพื่อที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ที่จะใช้สำหรับพืชผลการเกษตรในพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เช่น มะพร้าว สับปะรด หรือผลไม้อื่นๆ ซึ่งวิทยาลัยไม่ได้มุ่งที่จะชนะเลิศ แต่มุ่งในเรื่องของ สังคมเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม